วันจันทร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2564

วัดสมหวังวนาราม สุราษฎร์ธานี

วัดสมหวังวนาราม สุราษฎร์ธานี

 วัดสมหวังวนาราม อยู่ที่ตำบลวัดประดู่ อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นอีกหนึ่งวัดที่น่าไปแวะชมด้วยที่ตั้งของวัดติดน้ำบรรยากาศร่มรื่นเย็นสบาย เป็นจุดท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกหนึ่งแห่งในตัวเมืองสุราษฎร์ธานี โดยเฉพาะวันหยุดจะมีคนไปเที่ยวกันเยอะ  ก่อนมีสถานการณ์โควิดทุกวันหยุดที่วัดสมหวังวนารามจะมีตลาดน้ำวัดสมหวังให้ผู้คนได้ไปเที่ยวจับจ่ายใช้สอยกับตลาดริมน้ำกันด้วย

วัดสมหวังวนาราม สุราษฎร์ธานี
วัดสมหวังวนาราม คนในพื้นที่นิยมเรียกสั้นๆ ว่า วัดสมหวัง ชื่อดีเป็นมงคลใครไปแล้วนิยมขอพรจากเทพสมหวังสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในวัดที่เชื่อว่าจะได้สมหวังตามชื่อขององค์เทพ   แม้ว่าวัดสมหวังจะเป็นวัดสร้างใหม่อายุประมาณ 50-60 ปีเท่านั้น แต่ก็มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วจนเป็นจุดเช็คอินและแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจโดยเฉพาะสายบุญไม่ควรพลาด แม้นว่าเหตุการณ์ไม่ปกติก็ยังมีคนไปขอพรและทำบุญที่วัดสมหวังกันเนืองๆ 

วัดสมหวัง สุราษฎร์ธานี

ทำบุญให้อาหารปลาในวัดสมหวัง
ใครได้ไปเที่ยววัดสมหวังของจังหวัดสุราษฎร์ธานี แนะนำเลยว่าต้องเดินชมบรรยากาศของวัดที่ตั้งติดริมคลองใหญ่ ไหว้พระ ทำบุญตามอัทธยาศัยแล้วก็สามารถทำบุญให้อาหารปลาทั้งให้อาหารเม็ดปลาคราฟสีสันสวยงามในบ่อ หรือจะให้ขนมปังกับปลาหลากหลายชนิดในคลองท่าวัดซึ่งมีชุกชุมเพราะเป็นเขตอภัยทาน 
เที่ยววัดสมหวัง สุราษฎร์ธานี

บริเวณริมน้ำของวัดสมหวังยังทำเป็นแพหรือโป๊ะริมน้ำให้คนที่มาเที่ยวได้นั่งพักผ่อนหรือลงไปให้อาหารปลา และเป็นที่ตั้งของตลาดน้ำวัดสมหวังซึ่งจะเปิดขายเฉพาะวันเสาร์และอาทิตย์ตั้งแต่เวลา 09.00 - 19.00 น. และเป็นจุดขึ้นเรือพาเที่ยวชมทัศนียภาพและธรรมชาติสวยๆ ของบึงขุนทะเลด้วย แต่จากมาตรการโควิดที่กระทบการท่องเที่ยวอย่างรุนแรง กิจกรรมการท่องเที่ยวอื่นๆ อาจจะต้องสอบถามกับทางวัดสมหวังอีกครั้งก่อนไปใช้บริการ

สนใจไปเที่ยววัดสมหวังวนาราม ตั้งอยู่ที่ ตำบลวัดประดู่ อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี  เบอร์โทรศัพท์ 089-789-8075 ช่วงเวลาทำการระหว่าง  09.00 - 18.00 น.

เทพสมหวัง วัดสมหวัง สุราษฎร์ธานี
ติดตามข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ร้านอาหารท้องถิ่นที่คนนิยม รวมถึงจัดนำเที่ยวแบบสบายๆ ราคาไม่แพง ได้ที่ http://tourthai.online

เขียนโดย ศักดิ์เพ็ชร  เรืองแพ

วันอาทิตย์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2564

ไส้อั่วเมืองยอง ของกินขึ้นชื่อจากเชียงใหม่

ไส้อั่วเมืองยอง ของฝากชื่อดัง จากเชียงใหม่
ไส้อั่วเมืองยอง ไส้อั่วเป็นอาหารอร่อยทางภาคเหนือ โดยเฉพาะที่จังหวัดเชียงใหม่มีไส้อั่วสูตรโบราณชื่อว่าไส้อั่วเมืองยอง เป็นไส้อั่วที่ไม่เหมือนไส้อั่วทั่วๆ ไป ไส้อั่วเมืองยองจะเป็นแท่งรูปร่างคล้ายกุนเชียง มีวิธีการผลิตแบบดั้งเดิมโดยใช้ไส้แท้ๆ  เนื้อหมูที่นำมาทำไส้อั่วก็ใช้เนื้อบริเวณสะโพก  มีทั้งแบบสูตรหมูล้วนและไส้อั่วใส่กระดูกอ่อนที่เวลาเคี้ยวจะสัมผัสได้ถึงความกรุบกรอบน่ากินยิ่งขึ้น 
ไส้อั่วเมืองยอง ของฝากจากเชียงใหม่

ไส้อั่วเมืองยอง เป็นทั้งของกินอร่อยและของฝากขึ้นชื่อของจังหวัดเชียงใหม่  สามารถไปซื้อหารับประทานได้ที่ตลาดศิริวัฒนาหรือกาดธานิน  และมีอีกหนึ่งสาขาอยู่ที่ตลาดหนองหอย มีทั้งที่ย่างสุกพร้อมกินและซื้อกลับไปทำกินที่บ้าน ราคาจำหน่ายเส้นละ 25 บาท แต่ถ้าซื้อเป็นของฝาก ใน 1 ห่อหรือ 1 แพ็คจะมี 4 เส้น เก็บในถุงซิปอย่างดีสามารถเก็บในตู้เย็นได้นานถึงหนึ่งเดือน เวลาจะนำมาทำอาหารรับประทานก็เพียงนำไปย่างหรือใช้หม้ออบลมร้อนหรือจะเข้าไมโครเวฟก็ได้

ไส้กรอกเมืองยอง อร่อย ไปเชียงใหม่ต้องแวะซื้อและแวะกิน ร้านอยู่ที่กาดธานิน
สำหรับท่านที่อยู่ต่างจังหวัด อยากทานไส้อั่วเมืองยอง ไส้อั่วสูตรโบราณแท้ๆ ของกินอร่อยๆ ทางร้านก็มีบริการจัดส่งทั่วไทย ผู้เขียนเองก็อยู่ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ใช้วิธีสั่งให้ส่งทางรถห้องเย็นของนิ่มซี่เส็ง ใช้เวลาจากเชียงใหม่ถึงสุราษฎร์ธานี ประมาณ 3 วัน ได้รับไส้อั่วเมืองยองในสภาพที่ยังเรียบร้อยสมบูรณ์ไม่มีปัญหาอะไรเลย แต่ย้ำว่าต้องจัดส่งโดยใช้บริการขนส่งที่ใช้รถห้องเย็นเท่านั้น ก็จะสามารถควบคุมคุณภาพของไส้อั่วได้เหมือนได้รับจากทางร้านจนถึงมือผู้รับปลายทางแน่นอน
นำไส้อั่วเมืองยองมาย่างด้วยหม้ออบลมร้อน ก็อร่อย
สนใจจะซื้อไส้อั่วเมืองยอง ไส้อั่วสูตรโบราณดั้งเดิมของกินขึ้นชื่อที่แสนอร่อยจากเชียงใหม่ ก็แวะไปหาซื้อได้ที่กาดธานิน หากไม่สะดวกเดินทางไปก็สามารถติดต่อสอบถามและสั่งซื้อกับทางร้านได้ที่โทร. 089-855-8945

ไส้อั่วเมืองยอง กินเล่นก็เพลิน  กินกับข้าวเหนียวก็อร่อย 
จุดเด่นและความอร่อยของไส้อั่วเมืองยอง เชียงใหม่ เป็นไส้อั่วสูตรโบราณที่ใช้เนื้อหมูผสมกับพริกแกงที่ลงตัว นำไปย่างสุกแล้วมีกลิ่นหอมรสชาติพอดีๆ ไม่ถึงกับรสจัดจ้านแต่ก็ไม่จืด เนื้อไส้อั่วถูกบรรจุในไส้หมูแท้ๆกินแล้วรู้สึกดีเนื้อแน่นเต็มปากเต็มคำเวลากัดและเคี้ยว สรุปได้ว่าอร่อยและน่ากิน ใครที่ชอบอาหารแนวนี้รับรองว่าไม่ผิดหวัง

ไส้อั่วเมืองยอง ที่ย่างแล้วนำมาหั่นเป็นชิ้นพร้อมรับประทาน
ติดตามเรื่องราวดีๆ อีกมากมายได้ที่ http://tourthai.online

เขียนโดย ศักดิ์เพ็ชร   เรืองแพ

วันเสาร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2564

วัดคอกช้าง จุดชมวิวเมืองสุดสวยของท่าชนะ

วัดคอกช้าง หรือ วัดวิชิตดิตถาราม ท่าชนะ สุราษฎร์ธานี

 อำเภอท่าชนะ เป็นอำเภอแรกของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่นักท่องเที่ยวผู้เดินทางจากกรุงเทพจะได้เยือนหากขับรถไปด้วยถนนสายหลัก โดยมีพื้นที่ติดกับอำเภอละแมของจังหวัดชุมพร ท่าชนะเป็นอำเภอเล็กๆ มีชายหาดติดทะเลที่สวยงาม และเป็นจุดเชื่อมโยงการท่องเที่ยวใหม่สู่เกาะต่างๆ ด้วยมีท่าเรือเอนกประสงค์เพื่อการท่องเที่ยวมีเรือสปีดโบ๊ทนำเที่ยวของ บริษัท ร้อยเกาะแอดเวนเจอร์ จำกัด ที่จะพานักท่องเที่ยวไปชมความงดงามของหมู่เกาะอ่างทอง , เกาะสมุย , เกาะพะงัน และเกาะเต่า ด้วยเส้นทางเดินเรือใหม่ที่สะดวกและใช้เวลาในการเดินทางน้อยที่สุด

วัดวิชิตดิตถาราม หรือวัดคอกช้าง อำเภอท่าชนะ
วัดวิชิตดิตถาราม ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลตำบลท่าชนะ อยู่ห่างจากตลาดอำเภอท่าชนะเพียง 400 เมตรเท่านั้น มีประวัติยาวนานน่าจะตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ด้านหลังของวัดติดกับภูเขาใหญ่มีชื่อว่า เขาประสงค์ ซึ่งคนในพื้นที่เชื่อว่าเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์มีเทวดาอารักษ์คุ้มครองปกปักรักษาอยู่ชื่อว่า แม่นางประสงค์ 

วัดวิชิตดิตถาราม คนในพื้นที่จะนิยมเรียกว่า วัดคอกช้าง ภายในวัดมีรูปปั้นช้างจำนวนหลายเชือกในอริยาบทกำลังเดินไปกินน้ำที่สระบัวกลางวัด จากชื่อวัดที่ชาวบ้านเรียกกันมาแต่ครั้งโบราณก็พอจะสันนิษฐานได้ว่าเมื่อก่อนพื้นที่บริเวณนี้คงมีคอกสำหรับจับช้างหรือเลี้ยงช้างมาก่อนนั่นเอง 

วัดคอกช้าง อำเภอท่าชนะ สุราษฎร์ธานี
คนที่เดินทางไปวัดคอกช้างหรือวัดวิชิตดิตถาราม ส่วนใหญ่ถ้าไม่ได้ไปวัดตามปกติธุระก็จะมีวัตถุประสงค์อยู่ 2 อย่าง คือ
พระครูประสงค์สารการ หรือหลวงปู่เทศน์
1 ไปสักการะรูปหล่อของพระครูประสงค์สารการ นามเดิมของท่านคือ เทศน์ โยธารักษ์  เมื่อขณะยังมีชีวิตท่านเป็นพระที่ชาวบ้านในพื้นที่ให้ความเคารพนับถือมาก ท่านมีความรู้เรื่องสมุนไพรที่หาตัวจับได้ยาก ประชาชนทั้งใกล้และไกลมักจะไปขอยาจากท่านอยู่เสมอ และหลวงปู่เทศน์ท่านก็มีอาคมขลัง เป็นที่ประจักษ์ของลูกศิษย์ลูกหามากมาย แม้ว่าท่านจะมรณภาพไปนานมากแล้ว แต่คนในพื้นที่ก็ยังให้ความเคารพและศรัทธาและมักจะไปขอพึ่งบารมีของหลวงปู่เทศน์อยู่เสมอ โดยท่านได้มรณภาพไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ.2502 ซึ่งขณะมรณภาพท่านมีอายุ  81 ปี มีพรรษาที่ 60 
 พระพุทธประสงค์ วุฒิพงษ์ประสิทธิ์ 
2 ขึ้นไปสักการะพระนาคปรกและชมวิวเมืองของท่าชนะที่สวยงามบนเขาประสงค์ พระนาคปรกองค์ใหญ่ที่ตั้งอยู่บนเขาประสงค์มีชื่อว่า
 พระพุทธประสงค์ วุฒิพงษ์ประสิทธิ์ โดยมีที่มาและการก่อสร้างที่ค่อนข้างพิศดาร ดังนี้
พระนาคปรกองค์ใหญ่ บนเขาประสงค์ที่วัดคอกช้าง ท่าชนะ

พระนาคปรกองค์นี้ที่ชื่อว่า พระพุทธประสงค์ วุฒิพงษ์ประสิทธิ์ ประธานารถบพิธ ท่าชนะมงคล  มีประวัติความเป็นมาที่ไม่ธรรมดามาก โดยเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2559 ผู้เขียนได้มีโอกาสไปพบกับกำนันเคว็ด (สิบเอกวุฒิ  แก้วเกษม) เป็นครั้งแรก ท่านเป็นอดีตกำนันตำบลท่าชนะ ผู้ที่สร้างพระนาคปรกองค์นี้ด้วยตนเองเมื่อประมาณ 30 กว่าปีที่แล้ว ได้เล่าให้ฟังว่า

เดิมทีท่านเป็นข้าราชการทหารยศสิบเอก ได้รับภารกิจต้องไปรบในสงครามเวียดนาม ก่อนไปราชการสงครามได้ทำการบนไว้ว่าถ้าปลอดภัยจากการไปสงครามกลับมาจะบวช 1 พรรษา ครั้นเมื่อได้กลับมาจากสงครามเวียดนาม เมื่อ พ.ศ. 2512 สิบเอกวุฒิก็ได้มาอุปสมบทที่วัดคอกช้างแห่งนี้ เห็นว่าบนหน้าผาใหญ่ด้านหลังของวัดมีหินใหญ่ตั้งอยู่มีความมั่นคงแข็งแรงมาก  น่าจะสร้างพระพุทธรูปขึ้นมาประดิษฐานไว้ที่นี่ ก็เลยใช้เงินส่วนตัว จำนวน 7,000 บาท(ในสมัยนั้น) กับความร่วมมือของชาวบ้านในพื้นที่ลงมือสร้างพระนาคปรกองค์ใหญ่  เหตุที่เลือกสร้างพระนาคปรกเพราะสิบเอกวุฒิเกิดวันเสาร์มีพระนาคปรกเป็นพระประจำวัน    
พระนาคปรก วัดคอกช้าง
แต่ด้วยระยะเวลาที่จำกัดของพระวุฒิในขณะนั้น มีเวลาช่วงลาอุปสมบท เพียง 4 เดือน  จึงสร้างเสร็จเฉพาะองค์พระเป็นพระปางสมาธิเท่านั้นในปีพ.ศ. 2513 พญานาคที่จะมาปรกคลุมองค์พระไม่สามารถทำได้ทัน เมื่อครบกำหนดตามวันลาราชการ พระวุฒิก็ลาสิกขากลับไปเป็นทหารต่อ ถัดจากนั้นเวลาผ่านไปอีก 1 ปี ชาวบ้านตำบลท่าชนะก็ไปขอร้องให้สิบเอกวุฒิลาออกจากราชการทหารมาเป็นกำนันที่ตำบลท่าชนะ แต่ก็ไม่ได้มีการไปสร้างองค์พระเพิ่มเติมให้แล้วเสร็จเป็นพระนาคปรกตามที่ตั้งใจไว้
ทางขึ้นไปจุดชมวิวและสักการะพระนาคปรก ที่วัดคอกช้าง
จนกระทั่งเวลาล่วงเลยผ่านมาอีกร่วม 46 ปี ถึงปี พ.ศ. 2559  สิบเอกวุฒิหรือกำนันเคว็ดจึงได้ตั้งใจรวบรวมเงินส่วนตัวจะสร้างพระนาคปรกที่วัดคอกช้างให้แล้วเสร็จตามที่ตั้งใจไว้แต่แรก แต่เมื่อถึงเวลาจะสร้างจริงๆ ปรากฏว่าช่างทุกคนที่ไปทำงานพากันเจ็บป่วยจนทำงานไม่ได้ทุกคน และกำนันเคว็ดเองก็ได้ฝันมีคนมาบอกในฝันว่า คนที่จะสามารถสร้างนาคคลุมองค์พระใหญ่ได้ต้องเป็นพระเท่านั้น สืบหาแล้วไม่สามารถหาพระที่จะมาสร้างนาคบนองค์พระได้ เพราะต้องปีนทำงานบนผาสูง การทำงานค่อนข้างยากและอันตราย 

ด้วยความศรัทธาและตั้งใจแน่วแน่กำนันเคว็ดจึงตัดสินใจบวชพระอีกครั้ง ทั้งที่ตนเองไม่มีความรู้ในงานปูนปั้นเลยแต่ก็สามารถลงมือสร้างพญานาคขนาดใหญ่ขึ้นคลุมองค์พระได้อย่างสวยงาม  จนชาวบ้านศรัทธาและนำเงินมาทอดผ้าป่าช่วยสมทบทุน จนการก่อสร้างแล้วเสร็จ
พระปางต่างๆ ที่วางเรียงรายตลอดบันไดทางขึ้นสู่องค์พระนาคปรกวัดคอกช้าง ท่าชนะ
เป็นเรื่องแปลกและมหัศจรรย์ในที่ระหว่างการก่อสร้างพญานาคคลุมองค์พระ ด้วยมีผู้ป่วยปวดขารุนแรงรายหนึ่งอยู่ที่จังหวัดระนองและไม่เคยมาที่อำเภอท่าชนะเลย ได้ฝันมีคนบอกให้เดินทางมาไหว้พระนาคปรกใหญ่ที่ท่าชนะแล้วจะหาย  ก็ได้เดินทางมาที่อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ค้นหาไปทั่วแต่หาพระนาคปรกไม่เจอ  เพราะขณะนั้นพระวุฒิกำลังเริ่มลงมือก่อสร้างพญานาคยังไม่แล้วเสร็จ เมื่อผู้ป่วยรายนี้ทราบว่าพระวุฒิกำลังลงมือสร้างพระนาคปรกที่วัดคอกช้าง เมื่อเดินทางมาเห็นองค์พระและเจอกับพระวุฒิก็ได้เล่าความฝันให้พระวุฒิฟังและยังเล่าอีกว่า ทั้งลักษณะองค์พระและสถานที่เหมือนในภาพฝันของเขาเลย จึงได้ตัดสินใจนุ่งขาวห่มขาวเดินตามพระวุฒิบิณฑบาตรตอนเช้า แล้วช่วยกันสร้างพญานาคกับพระวุฒิ น่าแปลกที่อาการป่วยปวดขารุนแรงแต่สามารถเดินขึ้นลงบันไดจำนวน 270 ขั้น วันละหลายรอบ เพื่อช่วยกันนำอุปกรณ์ไปสร้างพญานาคคลุมองค์พระ เป็นเวลาถึง 15 วัน ปรากฏว่าอาการปวดขาของผู้ป่วยท่านนี้ก็หายไปอย่างไม่น่าเชื่อ จึงเป็นที่มาของความเชื่อว่าถ้าใครที่ป่วย โดยเฉพาะอาการปวดขา ปวดเข่า สามารถมาขอพรจากพระนาคปรกนี้แล้วจะหาย ซึ่งมีคนหายมาแล้วจริงๆ ที่ยืนยันตัวตนได้จำนวนหลายคน 
พระนอน ที่กำลังก่อสร้างบนเขาประสงค์ ที่วัดคอกช้าง ท่าชนะ
ที่น่าประหลาดคือ ระหว่างการก่อสร้างพญานาคขึ้นคลุมองค์พระ ปรากฏว่าไม่เคยมีอุบัติเหตุหรือความเจ็บป่วยใดๆ เกิดขึ้นกับคณะทำงานเลย ทั้งๆที่การทำงานค่อนข้างเสี่ยงและอันตรายสูง และที่น่าอัศจรรย์กว่านั้นคือพระวุฒิผู้สร้างและปั้นพญานาคไม่มีความรู้ในงานปั้นเลย   ท่านเล่าว่าในการทำงานปั้นพญานาคเหมือนมีเทวดามาชักนำว่าต้องทำอย่างนั้นต้องปั้นอย่างนี้ และน่าแปลกมากๆ ที่ผลงานการปั้นพญานาคสวยงามมากๆ  ครั้นเมื่อสร้างพญานาคคลุมองค์พระเสร็จ พระวุฒิก็ลาสิกขาออกมา และทุกวันนี้กำนันเคว็ดหรืออดีตพระวุฒิก็ยังไปพัฒนาต่อเติมงานบริเวณนั้น อยู่เสมอๆ  และกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่งของอำเภอท่าชนะ 
สิบเอกวุฒิ หรือ กำนันเคว็ด ผู้มีศรัทธาอย่างแรงกล้าในการสร้างพระนาคปรกวัดคอกช้าง ท่าชนะ

พระนาคปรกองค์ใหญ่ เมื่อสร้างเสร็จได้รับเมตตาจากท่านเจ้าคุณฯ เจ้าคณะจังหวัดสุราษฎร์ธานี ตั้งชื่อองค์พระมีนามว่า พระพุทธประสงค์ วุฒิพงษ์ประสิทธิ์ ประธานารถบพิธ ท่าชนะมงคล ซึ่งวัดแล้วมีขนาดหน้าตักกว้าง 6 เมตร สูง 6 เมตร ประดิษฐ์ฐานอยู่บนหน้าผาสูงประมาณ 250 เมตร โดยต้องเดินขึ้นบันได  270 ขั้น บริเวณหน้าองค์พระเป็นจุดชมวิวของอำเภอท่าชนะที่สวยงามมาก นวันที่ท้องฟ้าแจ่มใสสามารถมองเห็นไกลถึงหมู่เกาะอ่างทอง สำหรับนักท่องเที่ยวแนะนำว่าควรขึ้นไปตอนเช้าตรู่นอกจากอากาศเย็นสบายแล้ว ลานชมวิวหน้าพระนาคปรกยังเป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้นที่สวยที่สุดของอำเภอท่าชนะเลยทีเดียว
พระพุทธบาทจำลองโบราณ
ระหว่างทางขึ้นสู่พระนาคปรกวัดคอกช้าง ยังมีจุดแวะชมพระพุทธบาทจำลอง ที่สันนิษฐานว่านำมาประดิษฐานโดยอดีตเจ้าเมืองท่าชนะ และมีเรื่องราวในอดีตที่น่าสนใจของวัดคอกช้างอีกมากมายที่เราสามารถไปศึกษาได้ โดยเฉพาะอาจจะได้พบได้เจอกับกำนันเคว็ดที่แม้นว่าจะอายุมากแล้วแต่ก็ยังมีศรัทธาอย่างแรงกล้าในการพัฒนาที่นี้ต่อไป
หมู่เกาะอ่างทอง นำเที่ยวโดยเรือสปีดโบ๊ทส่วนตัว จากอำเภอท่าชนะ

สนใจเที่ยวสุราษฎร์ธานีทุกรูปแบบ เที่ยวสนุกได้ความรู้ ทั้งพาเที่ยวเกาะต่างๆ ด้วยเรือสปีดโบ๊ทส่วนตัวและซิตี้ทัวร์รูปแบบต่างๆ เที่ยวเขื่อนรัชชประภา เที่ยวเขาสก เดินทางด้วยรถวีไอพี เน้นอาหารดี ที่นอนสบาย พาเที่ยวโดยคนพื้นที่ที่รู้จักแหล่งท่องเที่ยวดีกว่าใคร สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 084-625-9929

เขียนโดย ศักดิ์เพ็ชร  เรืองแพ

นาลันทา มหาวิทยาลัยสงฆ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

มหาวิทยาลัยนาลันทา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย
หลังจากเรารับประทานอาหารกลางวันจากวัดไทยนาลันทากันเรียบร้อยแล้ว ช่วงบ่ายเราก็นั่งรถไปเข้าชมมหาวิทยาลัยนาลันทา สถาบันการศักษาที่แรกและเคยมีชื่อเสียงโด่งดังมากที่สุดในโลก คณะของเราใช้เวลาอยู่บนรถไม่นานจากวัดไทยนาลันทาก็มาถึงมหาวิทยาลัยนาลันทาแล้ว ปัจจุบันมหาวิทยาลัยแห่งนี้ก็ยังคงเปิดสอน นั่งรถผ่านก็ยังได้เห็นในส่วนของอาคารสถานที่ที่กำลังทำการสอนและเรียนกันอยู่ ส่วนใหญ่เป็นวิชาทางพระพุทธศาสนามีพระและนักบวชมาศึกษาเล่าเรียนกันมาก แต่ก็ยังเห็นนักศึกษาที่เป็นบุคคลทั่วไปด้วย

สักการะ สถานที่ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นบ้านที่เกิดและดับไปของพระสารีบุตร อัครสาวกฝ่ายขวา

มหาวิทยาลัยนาลันทา มีความสำคัญมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ในอดีตอยู่ในเขตปกครองของแคว้นมคธ   ปัจจุบันนาลันทาอยู่ในการปกครองของรัฐพิหาร ประเทศอินเดีย  ในสมัยอดีตยุคพุทธกาลเมืองนาลันทาก็เป็นศูนย์การศึกษาและเป็นศูนย์รวมของนักปราชญ์นักวิชาการแล้ว  ภายในเขตมหาวิทยาลัยนาลันทามีโบราณสถานที่สำคัญนอกจากกลุ่มอาคารเรียนและที่พักของนักศึกษาแล้ว ยังมีเจดีย์ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของบ้านเกิดและเป็นที่นิพพานของพระสารีบุตร อัครสาวกฝ่ายขวาผู้เป็นเลิศทางด้านปัญญา ซึ่งท่านสารีบุตรต้องการจะประกาศให้เหล่านักวิชาการแห่งนาลันทาได้รับรู้ความยิ่งใหญ่ในพระสัมมาสัมโพธิญาณของพระพุทธเจ้า 

ไกด์อินเดียซึ่งบังเอิญเป็นเพื่อนสนิทกับ ดร.นพดล เป็นผู้นำชมมหาวิทยาลัยนาลันทา

หลักฐานสำคัญของนาลันทาในทางพระพุทธศาสนา คือการที่พระพุทธเจ้าเคยเสด็จมานาลันทาและทรงแสดงพรหมชาลสูตร ประกาศทิฏฐิ ๖๒ และทรงแสดงเกวัฏฏสูตร แสดงภาวะนิพพานซึ่งเป็นจุดหมายสูงสุดแห่งพระพุทธศาสนา

แผนผังภายในเขตมหาวิทยาลัยนาลันทา

ความเป็นมาของมหาวิทยาลัยนาลันทา ภายหลังพุทธกาล ในยุคของกษัตริย์ราชวงศ์คุปตะพระนามว่าศักราทิตย์ หรือกุมารคุปตะที่ 1 ซึ่งครองราชย์ประมาณ พ.ศ. 958-998 ได้ทรงสร้างวัดอันเป็นสถานศึกษาขึ้นแห่งหนึ่งที่เมืองนาลันทา และกษัตริย์พระองค์ต่อๆ มาในราชวงศ์นี้ก็ได้สร้างวัดเพิ่มขึ้นในโอกาสต่างๆ  ในบริเวณใกล้เคียงกันจนมีรวม 6 วัด  และในที่สุดได้มีการสร้างกำแพงใหญ่ล้อมรอบวัดทั้ง 6 รวมเข้าเป็นพื้นที่เดียวกัน เรียกว่า นาลันทามหาวิหาร และได้กลายเป็นศูนย์กลางการศึกษาที่ยิ่งใหญ่และสำคัญที่สุดของโลก เรียกกันทั่วไปในปัจจุบันว่า “มหาวิทยาลัยนาลันทา”

ห้องเรียนที่พระถังซำจั๋งเคยใช้ศึกษาที่มหาวิทยาลัยนาลันทา

มีบันทึกของหลวงจีนเหี้ยนจังหรือคนไทยรู้จักในนามว่า พระถังซำจั๋ง  ได้จาริกมาเพื่อศึกษาพระพุทธศาสนาที่นาลันทามหาวิหารในช่วงปี พ.ศ. 1172-1187    และได้เขียนบันทึกบรรยายอาคารสถานที่ที่ใหญ่โตและศิลปกรรมที่วิจิตรงดงาม ท่านเล่าถึงกิจกรรมทางการศึกษาที่รุ่งเรือง มีนักศึกษาประมาณ 10,000 คน มีอาจารย์ประมาณ 1,500 คน ยุคนั้นกษัตริย์ได้พระราชทานภาษีที่เก็บจากหมู่บ้าน 200 หมู่บ้านโดยรอบให้เป็นค่าบำรุงมหาวิทยาลัย ผู้เรียนจึงไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น วิชาที่สอนมีทั้ง ปรัชญา โยคะ ศัพทศาสตร์ เวชชศาสตร์ ตรรกศาสตร์ นิติศาสตร์ นิรุกติศาสตร์  โหราศาสตร์ ไสยศาสตร์ และตันตระ แต่ที่เด่นชัดที่สุดก็คือ นาลันทาเป็นศูนย์กลางการศึกษาพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน และเพราะความที่มีกิตติศัพท์เลื่องลือมาก จึงมีมีนักศึกษาเดินทางมาจากหลายประเทศเช่น จีน ญี่ปุ่น เอเซียกลาง สุมาตรา ชวา ทิเบต และมองโกเลีย เป็นต้น หอสมุดของนาลันทาใหญ่โตมากและมีชื่อเสียงไปทั่วโลก เมื่อคราวที่ถูกเผาทำลายในสมัยต่อมาโดยคนต่างศาสนา มีบันทึกกล่าวว่าหอสมุดของนาลันทามหาวิหารมีไฟไหม้อยู่เป็นเวลาหลายเดือนกว่าจะมอดดับไป

ภายในอาคารเรียนของนาลันทามหาวิหาร ยังมีแบ่งเป็นห้องเก็บเสบียงสำหรักผู้ที่มาเล่าเรียน

ช่วงบั้นปลายของมหาวิทยาลัยนาลันทา ได้หันไปสนใจการศึกษาพุทธศาสนาแบบตันตระ ที่ทำให้เกิดความย่อหย่อนและหลงเพลินทางกามารมณ์ ซึ่งเมื่อพระที่ควรงดเว้นเรื่องกามตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาหันมาเสพกามเสียแล้ว ก็ทำให้เหล่าอุบาสกอุบาสิกาเริ่มเสื่อมศรัทธาจนส่งผลให้ไม่สนใจใยดีพระศาสนา ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของพระสงฆ์ฝ่ายเดียว ต่างจากลัทธิพราหมณ์ที่เริ่มปรับตัวพื่อต่อสู้กับการเจริญเติบโตของพุทธศาสนาจนกลายเป็นศาสนาฮินดู การปรับตัวของลัทธิพราหมณ์ได้แก่ เดิมไม่มีนักบวชก็มีนักบวช ที่ไม่เคยมีวัดก็มีวัด จากการเข่นฆ่าบูชายัญสัตว์ก็หันมานับถือสัตว์บางประเภทและประกาศไม่กินเนื้อเช่น วัว สร้างเรื่องให้พระพุทธเจ้าก็กลายเป็นอวตารหนึ่งของเทพเจ้าในศาสนาฮินดูและทำให้พุทธศาสนากลมกลืนกับศาสนาฮินดูมากขึ้น ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้พระพุทธศาสนาในอินเดียเสื่อมโทรมลงในที่สุด

อาคารเรียนของ นาลันทา มหาวิหาร

การล่มสลายของมหาวิทยาลัยนาลันทา ประมาณ พ.ศ. 1742 กองทัพมุสลิมเติรกส์ได้ยกมารุกรานรบชนะกษัตริย์แห่งชมพูทวีปฝ่ายเหนือ และเข้ามาครอบครองดินแดน ในครั้งนั้นกองทัพมุสลิมเติรกส์ได้เผาผลาญทำลายวัดและปูชนียสถานในพุทธศาสนาลงแทบทั้งหมด และสังหารผู้ที่ไม่ยอมเปลี่ยนศาสนา นาลันทามหาวิหารก็ถูกเผาผลาญทำลายลงจนพินาศในช่วงระยะเวลานั้นด้วย  ต่อมาท่านมุทิตาภัทร รัฐมนตรีของกษัตริย์ในสมัยนั้นได้จัดทุนทรัพย์จำนวนหนึ่งส่งไปจากแคว้นมคธ เพื่อช่วยเหลือซ่อมแซมปฏิสังขรณ์วัดวาอารามที่นาลันทาขึ้นมาใหม่แต่ก็ทำได้บางส่วนเท่านั้น แต่แล้ววันหนึ่งได้มีปริพาชก 2 คนได้เข้ามาประกอบพิธีกรรมทางศาสนาของตนขึ้นและเมื่อคิดว่าเพียงพอแล้วที่จะอยู่ที่นาลันทาต่อไป จึงได้รวบรวมเศษไม้แล้วก่อไฟขึ้น พร้อมทั้งขว้างปาดุ้นฟืนที่ติดไฟไปตามสถานที่ต่างๆ โดยรอบ จนกระทั่งเกิดไฟลุกไหม้ไปทั่วมหาวิทยาลัยนาลันทา จนสุดที่จะทำการซ่อมแซมปฏิสังขรณ์ให้คืนดีได้ดังเดิม มหาวิทยาลัยนาลันทาก็เป็นอันสิ้นสุดลงมาตั้งแต่บัดนั้น 

พื้นที่ภายใน มหาวิทยาลัยนาลันทากว้างขวางใหญ่โตมาก

สถาบันนาลันทาใหม่ เมื่อไม่นานมานี้ประเทศอินเดียได้ตื่นตัวและตระหนักถึงความสำคัญของพระพุทธศาสนาที่มีบทบาทอันยิ่งใหญ่ในการสร้างสรรค์อารยธรรมของชมพูทวีป รวมทั้งบทบาทของมหาวิทยาลัยนาลันทาด้วย ในปี พ.ศ. 2494 ก็ได้มีการจัดตั้งสถาบันบาลีนาลันทา ชื่อว่า “นวนาลันทามหาวิหาร” เพื่อแสดงความรำลึกคุณและยกย่องเกียรติแห่งพระพุทธศาสนา พร้อมทั้งเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่นาลันทามหาวิหาร มหาวิทยาลัยที่ยิ่งใหญ่ในสมัยอดีต โดยสร้างขึ้นจากความเลื่อมใสของหลวงพ่อเจ กัสสปะ สังฆนายกรูปแรกของสงฆ์อินเดีย ท่านเป็นชาวเมืองรานชี รัฐจักกัน ท่านเกิดในตระกูลที่ร่ำรวย เมื่อเป็นหนุ่มได้ศึกษาพุทธประวัติแล้วเกิดความศรัทธาอย่างแรงกล้า จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุที่ประเทศศรีลังกา และได้ออกปาฐกแสดงเรื่องความยิ่งใหญ่ของมหาวิทยาลัยนาลันทาในอดีต แก่ผู้นำรัฐบาลในกรุงนิวเดลี และในที่สุดก็ประสบความสำเร็จ มหาวิทยาลัยนาลันทาได้กลับมาเปิดสอนใหม่อีกครั้งในปี พ.ศ. 2494 และท่านได้เป็นครูสอนและผู้บริหารของสถาบันนี้ด้วย โดยครั้งแรกได้เปิดสอนที่วัดจีนนาลันทา แล้วภายหลังได้ย้ายมาอยู่ตรงกันข้ามกับนาลันเก่า ต่อมาชาวมุสลิมที่อยู่ที่หมู่บ้านนาลันทา ต้องการจะไถ่บาปที่บรรพบุรุษของตนได้ทำไว้แก่ชาวพุทธ จึงมอบที่ดินจำนวน 12 ไร่ เพื่อสร้างเป็นสถาบันบาลีนาลันทาแห่งใหม่ สร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2500  เปิดสอนด้านภาษาบาลีและพระพุทธศาสนาตั้งแต่ระดับปริญญาตรี-ปริญญาเอก โดยได้รับการรับรองและสนับสนุนจากรัฐบาลกลางนิวเดลลีของอินเดีย มีพระสงฆ์จากประเทศต่างๆ เช่น ไทย พม่า กัมพูชา อินเดีย บังคลาเทศ ไปศึกษาอยู่เป็นจำนวนมาก 

สถานที่อันเคยเป็นบ้านที่เกิดและที่ตายของพระสารีบุตร ภายในเขตรั้วของ มหาวิทยาลัยนาลันทา

คณะของเราทั้ง 10 คน ได้เดินดูและฟังเรื่องเล่าจากไกด์อินเดียถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของมหาวิทยาลัยนาลันทา  ได้เห็นสัจธรรมการเกิด การเติบโต ความรุ่งเรืองรุ่งโรจน์ขีดสุด ความเสื่อมถอย และในที่สุดก็ถึงกาลแตกดับของมหาวิทยาลัยนาลันทาที่แสนจะยิ่งใหญ่ ซึ่งก็เป็นเฉกเช่นเดียวกับการเกิดและแตกดับของมนุษย์คนนึง อดีตแก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว ก็คงมีแต่ปัจจุบันกับความเป็นจริง 

ภายในมหาวิทยาลัยนาลันทา กว้างขวางใหญ่โตมาก เผลอๆ อาจจะหลงทางได้ง่ายๆ
ไปอินเดียครั้งนี้ได้เห็นอะไรหลายๆ อย่าง และรู้ว่า คำสอนของพระพุทธเจ้าไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลย ทุกข์และสุขก็ใกล้ตัว นิพพานก็ใกล้ตัว ก็อยู่ที่บารมีของแต่ละคนว่าจะทำอย่างไรกับความสุขและความทุกข์ที่มันจะหมุนเวียนเข้ามาให้เราพบเจออีกมากมายจนกว่าวาระสุดท้ายจะมาถึง ออกจากนาลันทาคืนนี้เราก็จะไปพักกันที่วัดไทยไวสาลี ติดตามตอนต่อไปนะครับ

ติดตามอ่านบทความทั้งหมดใน ประสบการณ์เดินทางไปแสวงบุญ 4 สังเวชนียสถาน 8 วัน ในประเทศอินเดียและเนปาล ได้ที่ www.rkatour.com

สนใจเดินทางไปทัวร์แสวงบุญ 4 สังเวชนียสถาน สักการะสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของพระพุทธศาสนา สถานที่ประสูติ ตรัสรู้ ปฐมเทศนา และปรินิพพาน รวมถึงสถานที่สำคัญอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งพุทธกาล  สอบถามรายละเอียดการเดินทางได้ที่ โทร. 084-625-9929  

เขียนโดย ศักดิ์เพ็ชร  เรืองแพ
www.rkatour.com

วันศุกร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2564

วัดไทยนาลันทา วัดที่มีที่มาแปลกที่สุดในอินเดีย

วัดไทยนาลันทา ประทศอินเดีย
 วัดไทยนาลันทา ประเทศอินเดีย ท่านที่ติดตามอ่านบทความการทัวร์แสวงบุญประเทศอินเดียและประเทศเนปาลครั้งนี้ คงรู้แล้วว่าวันนี้ยังอยู่ในช่วงการเดินทางของวันที่ 3 จากโปรแกรมทั้งหมด 8 วัน ที่คณะของเรารวม 10 ท่านได้ตั้งใจมาสักการะบูชา 4 สังเวชนียสถาน สถานที่สำคัญและศักดิ์สิทธิ์ในพระพุทธศาสนา สำหรับท่านที่เพิ่งเข้ามาเห็นบทความนี้ก็สามารถคลิ๊กไปอ่านบทความทั้งหมดทุกตอนไล่ตั้งแต่ต้นจนจบโปรแกรมได้ที่ http://tourthai.online/touroutbound.html

อาหารกลางวันที่วัดไทยนาลันทา
จากตอนที่แล้ว คณะของเราได้ขึ้นไปสักการะพระมูลคันธกุฎีที่ประทับของพระพุทธเจ้าบนยอดเขาคิชฌกูฏ และดูสถานที่สำคัญๆ ในกรุงราชคฤห์ที่เกี่ยวข้องกับพุทธประวัติในสมัยพุทธกาล ใช้เวลานั่งรถไม่นานเราก็มาถึงวัดไทยนาลันทา ซึ่งคณะของเราได้ประสานงานไว้แล้วว่าจะมารับอาหารเที่ยงกันที่นั่น
อาหารกลางวันที่วัดไทยนาลันทา
ในขณะที่เราเดินทางไปถึงวัดไทยนาลันทา ก็มีคณะแสวงบุญชาวไทยคณะอื่นมาถึงพร้อมๆ กันกับเราด้วย  อาหารไทยที่วัดไทยนาลันทาทำได้ดีและอร่อยทีเดียว วันนั้นมีกับข้าวให้เลือกกินหลายอย่าง อาจจะเพราะมีคณะสงฆ์และคนไทยมารับมื้อเที่ยงด้วยกันเป็นจำนวนมากก็ได้เลยมีกับข้าวให้เลือกกินหลากหลายมีแม้กระทั่งส้มตำไทยและส้มตำปลาร้ารสแซ่บกินแล้วทำให้หายคิดถึงเมืองไทยไปชั่วขณะเลยเชียว แต่ที่ติดใจและชอบมากที่สุดคือขนมเค้กบุญที่อร่อยมาก ใครที่ชอบกินขนมเค้กแนะนำเลยว่าไม่ผิดหวัง มี 3 รส 3 สไตล์ให้เลือกทั้งเค้กกล้วยหอม เค้กกาแฟ และเค้กผลไม้ ชอบรสไหนกลิ่นอะไร ก็ทำบุญไปชิ้นละ 20 บาทเท่านั้น พวกเราในคณะหลายๆ คนติดใจเค้กบุญกันมากถึงขนาดขอทำบุญนำขนมเค้กใส่ถุงไปกินต่อบนรถอีกด้วย
เค้กบุญที่วัดไทยนาลันทา
สันนิษฐานว่าช่วงฤดูกาลที่มีทัวร์แสวงบุญ น่าจะมีคณะสงฆ์และกลุ่มสาธุชนชาวไทยเดินทางมาพักและแวะทานอาหารที่วัดไทยนาลันทาแห่งนี้มากพอสมควร เพราะสังเกตจากโรงอาหารที่กว้างขวางใหญ่โตและยังมีโซนร้านกาแฟแยกไปอีกส่วนต่างหาก บ่ายๆ นั่งรถไกลดื่มกาแฟอร่อยๆ ก็เข้าทีดีมาก มีเครื่องดื่มให้เลือกหลากหลายประเภทสมเป็นร้านกาแฟเลยทีเดียว
ฟักทองยักษ์ ที่ทางวัดไทยนาลันทาปลูกไว้ทำอาหารต้อนรับนักเดินทาง
ที่ชอบมากเป็นพิเศษ คือที่วัดไทยนาลันทา มีการปลูกผักที่ใช้ทำอาหารเองด้วย แม้นว่าผักผลไม้ในอินเดียจะราคาไม่แพงและไม่ค่อยน่าวิตกเรื่องสารเคมีตกค้างเพราะเขาเน้นปลูกกันแบบธรรมชาติใช้ปุ๋ยมูลสัตว์เป็นหลักในการปรับปรุงดิน แต่ทางวัดไทยนาลันทาก็มีการปลูกผักหลายๆ อย่างเพื่อนำมาใช้ประกอบอาหารต้อนรับนักท่องเที่ยวและคณะผู้เดินทางมาแสวงบุญ และคงเป็นเพราะดินดีอากาศดีจึงได้เห็นผลฟักทองยักษ์ลูกละหลายสิบกิโลกรัมจำนวนหลายลูกตั้งรอไว้ทำอาหารหรือนำมาโชว์นักท่องเที่ยวก็ไม่แน่ใจ
ฟักทองยักษ์ วางโชว์อยู่ที่ร้านกาแฟในวัดไทยนาลันทา

ผึ้งจำนวนมาก มาทำรังเต็มไปหมดรอบๆ อุโบสถ
ตอนที่มาถึงวัดไทยนาลันทาลงจากรถ อาจจะเป็นเพราะเริ่มหิวกันแล้ว ทุกคนเลยใจจดจ่อไปที่โรงอาหาร แต่ก็รู้สึกผิดปกติตั้งแต่ลงจากรถคือได้ยินเสียงและเห็นผึ้งบินอยู่บนหัวเยอะมากๆ แถมรู้สึกคล้ายมีฝนตกเล็กๆ ก็ไม่ได้สนใจอะไรมาก แต่เมื่อทุกคนอิ่มกับอาหารกลางวัน และเดินไปรีแลกซ์ด้วยกาแฟหรือเครื่องดื่มตามแต่ที่แต่ละท่านชอบ  หัวหน้าคณะของเราคือท่านอาจารย์ด็อกเตอร์นพดลก็ชวนกันพาเดินเล่นรอบๆ วัดไทยนาลันทา ทีนี้เราเลยเพิ่งรู้ว่าที่ลงจากรถแล้วคล้ายโดนฝนตกใส่ที่แท้โดนมูลที่ผึ้งถ่ายออกมานั้นเอง มองไปทางไหนก็เห็นแต่ผึ้งและผึ้งบินว่อนเต็มไปหมด เฉพาะที่อุโบสถเห็นผึ้งทำรังบนหลังคานับแล้วร่วมร้อยรัง รังใหญ่ก็มีรังเล็กๆ ก็มี ได้แต่สงสัยว่าคงเป็นเขตอภัยทานและธรรมชาติที่นี่คงไม่เป็นพิษและไม่มีภัยต่อผึ้งก็ได้ แต่ก็สังเกตแล้วสังเกตอีกว่าทุกคนไม่ว่าจากในคณะของเราหรือคณะของเขาไม่มีใครโวยวายว่าโดนผึ้งต่อยซักคน  และที่น่าแปลกกว่านั้นคือไม่มีผึ้งแม้นแต่ตัวเดียวไปบินวอแวรบกวนที่โรงอาหารและร้านกาแฟเลย น่าจะเป็นเพราะเป็นผึ้งอินเดียสายพันธุ์ไม่ดุหรืออาจจะคุยกันรู้เรื่องและทำข้อตกลงกับทางวัดก็ได้ (ข้อความอันนี้ผู้เขียนคิดเอง หุหุ)  
ดร.นพดล และพระครูปริยัตธรรมวิเทศ (ดร.)
และสังเกตมาตลอด 3 วันแล้วว่า คณะของเราได้รับความสะดวกสบายและมีอาหารพิเศษให้จากวัดทุกที่ที่เราไปพักและแวะรับประทานอาหารตลอดเส้นทาง เลยได้รู้มาอีกว่า ดร.นพดล ไกด์พิเศษของเราเคยบวชเป็นพระและมาศึกษาเล่าเรียนจนจบด็อกเตอร์ที่ประเทศอินเดีย เป็นพระไทยชุดแรกๆ ที่มาช่วยกันสร้างวัดไทยในประเทศอินเดีย จึงทำให้ ดร.นพดลค่อนข้างกว้างขวางและเป็นที่รู้จักมักคุ้นกันดีกับเจ้าอาวาสวัดไทยเกือบทุกวัดในประเทศอินเดีย ได้ไกด์ดี คณะของเราก็เลยโชคดีไปด้วย
วัดไทยนาลันทา
ทำความรู้จักวัดไทยนาลันทา ก่อนที่คณะเราจะเดินทางไปมหาวิทยาลัยนาลันทากันต่อไป เรามาทำความรู้จักความเป็นมาของวัดนี้ที่ไม่เหมือนวัดไทยอื่นๆ ที่มาสร้างในประเทศอินเดียกันก่อน เผื่อวันข้างหน้าท่านมีโอกาสไปอินเดียจะได้เป็นข้อมูลในการวางแผนการเดินทาง
วัดไทยนาลันทา ประเทศอินเดีย
ความเป็นมาของวัดไทยนาลันทา (Wat Thai Nalanda) ตั้งอยู่ที่ นาลันทา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย  ซึ่งนาลันทาเป็นตำบลบ้านเกิดและเป็นที่นิพพานของพระสารีบุตรพระอัครสาวกเบื้องขวา และต่อมาที่บริเวณบ้านของพระสารีบุตรได้กลายเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์นาลันทาที่ยิ่งใหญ่ ถือเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกของโลก มีพื้นที่กว้างขวางใหญ่โตเคยเจริญรุ่งเรืองขีดสุดมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่หลวงจีนนามพระถังซำจั๋งได้เดินทางจากแผ่นดินจีนมาเรียนที่นี่  ในกาลต่อมามหาวิทยาลัยนาลันทาที่เคยยิ่งใหญ่และโด่งดังไปทั่วโลกเป็นแหล่งเรียนรู้และเผยแพร่พระพุทธศาสนาที่สำคัญก็ได้ถูกทำลายด้วยคนต่างศาสนา ซึ่งจะเล่ารายละเอียดในตอนถัดไป
วัดไทยนาลันทา อินเดีย
ไม่ห่างจากมหาวิทยาลัยนาลันทามากนัก มีวัดไทยซึ่งมีประวัติการก่อสร้างที่แปลกประหลาดที่สุดในอินเดียชื่อว่าวัดไทยนาลันทา เหตุที่แปลกเพราะปกติวัดไทยทั้งหมดที่สร้างในอินเดียจะมีการซื้อที่ดินและทำการปลูกสร้างรวมทั้งใช้ทุนในการสร้างโดยคณะสงฆ์ไทยร่วมกับชาวไทยผู้มีใจศรัทธา มีวัดไทยพุทธคยาที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทยด้วย   แต่เฉพาะวัดไทยนาลันทาเท่านั้นที่ทั้งที่ดินและอาคารต่างๆ ภายในวัดได้รับการบริจาคจากชาวอินเดียทั้งหมด
วัดไทยนาลันทา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย
วัดไทยนาลันทา ตั้งอยู่ที่ตำบลนาลันทา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย เริ่มแรกเกิดจากหลวงพ่อชคดิช กัสสปะ  พระสงฆ์ชาวอินเดีย ได้ศึกษาถึงประวัตศาสตร์ความยิ่งใหญ่ของมหาวิทยาลัยนาลันทา จึงได้ริเริ่มที่จะฟื้นฟูมหาวิทยาลัยนาลันทาให้กลับมาอีกครั้ง  ท่านได้พากเพียรพยายามอย่างมากจนในที่สุดก็ได้สร้างมหาวิทยาลัยสงฆ์นาลันทาขึ้นมาได้สำเร็จอีกครั้งในปี พ.ศ. 2494  ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นอธิการบดีคนแรก แล้วต่อมาท่านก็ได้รับตำแหน่งเป็นสังฆนายกของประเทศอินเดียด้วย
วัดไทยนาลันทา อินเดีย
เมื่อมหาวิทยาลัยนาลันทาได้กลับมาเปิดสอนอีกครั้ง หลวงพ่อชคดิช กัสสปะก็ได้ซื้อที่ดิน จำนวน 3 ไร่ ติดกับมหาวิทยาลัยนาลันทา เพื่อสร้างเป็นที่พักและสำนักวิปัสสนาโดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอินเดียและพุทธบริษัทชาวไทย ต่อมาในปี 2514 ท่านได้มีความดำริว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนามาอย่างยาวนานและต่อเนื่อง จึงมีความศรัทธายกที่ดินทั้ง 3 ไร่และอาคารอีก 6 หลัง อันเป็นสมบัติส่วนตัวของท่านให้เป็นสมบัติของประเทศไทย  และขั้นตอนทางกฎหมายได้เสร็จเรียบร้อย และได้กลายเป็นวัดไทยนาลันทา เมื่อวันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2517  ซึ่งคงมีเนื้อที่เพียง 3 ไร่ตามจำนวนพื้นที่เดิมที่หลวงพ่อชคดิช กัสสปะได้ซ้ือไว้และได้บริจาคให้เป็นวัดไทย และต่อมาได้มีผู้มีจิตศรัทธาซื้อที่ดินถวายเพิ่มอีกหลายครั้งจนปัจจุบันวัดไทยนาลันทางมีเนื้อที่รวม 9 ไร่   
ติดต่อวัดไทยนาลันทา
สำหรับท่านที่สนใจเดินทางไปประเทศอินเดีย โดยเฉพาะไปรัฐพิหาร สามารถไปติดต่อใช้บริการที่พักและอาหารที่วัดไทยนาลันทาได้ โดยติดต่อไปที่ พระครูปริยัติธรรมวิเทศ (ดร.) ตามที่อยู่ในรูปภาพข้างบน ส่วนการเดินทางช่วงบ่ายที่เราจะไปมหาวิทยาลัยนาลันทาติดตามอ่านได้ในบทความถัดไปนะครับ

ติดตามอ่านบทความทั้งหมดใน ประสบการณ์เดินทางไปแสวงบุญ 4 สังเวชนียสถาน 8 วัน ในประเทศอินเดียและเนปาล ได้ที่  www.rkatour.com

สนใจเดินทางไปทัวร์แสวงบุญ 4 สังเวชนียสถาน สักการะสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของพระพุทธศาสนา สถานที่ประสูติ ตรัสรู้ ปฐมเทศนา และปรินิพพาน รวมถึงสถานที่สำคัญอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งพุทธกาล  สอบถามรายละเอียดการเดินทางได้ที่ โทร. 084-625-9929  

เขียนโดย ศักดิ์เพ็ชร  เรืองแพ
www.rkatour.com

วันพฤหัสบดีที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2564

ถึงยอดเขาคิชฌกูฏ ประเทศอินเดีย

เขาคิชฌกูฏ รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย
จากตอนที่แล้ว เราเล่าค้างถึงการเดินทางมาถึงครึ่งทางของการเดินสู่ยอดเขาคิชฌกูฏ ซึ่งอยู่ที่รัฐพิหารประเทศอินเดีย ระหว่างทางไกด์ก็บรรยายเรื่องราวในสมัยพุทธกาลที่น่ารู้และเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่เรากำลังเดินทางขึ้นไปมากมาย ประกอบกับเราอยู่ในพื้นที่จริง สถานที่ที่เหตุการณ์เหล่านั้นเคยเกิดขึ้นจริง ทำให้แทบจะหลับตาเห็นภาพได้ถึงเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้น

จุดนัดพบรวมพล ก่อนเข้าไปในเขตมูลคันธกุฎี
ในที่สุดคณะของเราทั้ง 9 คนก็เดินขึ้นมาถึงยอดเขา มาเจอกับผู้ร่วมคณะอีก 1 ท่านที่ขึ้นมาด้วยบริการลูกหาบชาวอินเดีย ที่จุดนี้เป็นจุดพักคอยสังเกตเห็นมีการประดับธงและการวางก้อนหินเรียงซ้อนกันเป็นชั้นๆ ตามปรัชญาของเซน ที่เปรียบให้เห็นถึงความสมดุลของศีลสมาธิเเละปัญญา โดยหินจะตั้งมั่นอยู่ไม่ได้เลยหากขาดหลักธรรมไตรสิกข้อนี้เช่นเดียวกับการปฏิบัติธรรม และยังมีความเชื่อเกี่ยวกับการเรียงหินรูปเจดีย์เพื่อไถ่บาปด้วย
ตำแหน่งที่พระเทวทัตกลิ้งหินใส่พระพุทธเจ้าจนทรงห้อพระโลหิต
จุดที่พระเทวทัตตั้งใจทำร้ายพระพุทธเจ้า ถัดจากจุดที่ประดับธงเลยไปเล็กน้อย ก็จะพบกับตำแหน่งพื้นที่ที่พระเทวทัตกลิ้งหินใส่พระพุทธเจ้าจนทรงห้อพระโลหิต และหมอชีวกโกมารภัจจ์ได้เป็นผู้เข้าเฝ้ารักษาพระอาการ จุดนี้ดร.นพดลได้เล่าเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นอย่างละเอียดพอสมควร 
ถ้ำพระสารีบุตร
ถ้ำพระสารีบุตร เดินไปจากจุดที่พระเทวทัตกลิ้งหินไปเล็กน้อยก็จะเจอถ้ำพระสารีบุตร ซึ่งเป็นถ้ำที่พระสารีบุตรเคยจำพรรษาอยู่  พระสารีบุตรได้รับการยกย่องเป็นอัครสาวกเบื้องขวาของพระพุทธเจ้า และยังได้รับการยกย่องจากพระพุทธองค์ว่าเป็นเลิศกว่าพระภิกษุทั้งปวงในด้านสติปัญญา  มีคุณธรรมในด้านความกตัญญู และการบำเพ็ญประโยชน์ให้แก่พุทธศาสนามากมาย จึงมีคำยกย่องพระสารีบุตรว่าเป็น "ธรรมเสนาบดี" (แม่ทัพธรรม) คู่กับพระพุทธเจ้าที่เป็น "ธรรมราชา" คนที่เดินทางไปสักการะถ้ำพระสารีบุตรจึงมักนิยมอธิษฐานขอให้มีปัญญา 
ถ้ำพระโมคคัลลานะ
ถ้ำพระโมคคัลลานะ เดินจากถ้ำพระสารีบุตรไปอีกนิดหน่อยไม่ไกลกัน ก็จะเจอถ้ำพระโมคคัลลาหรือพระมหาโมคคัลลานเถระ  ผู้ได้รับการยกย่องเป็นพระภิกษุอัครสาวกเบื้องซ้ายของพระพุทธเจ้า เป็นพระอสีติมหาสาวกผู้เป็นเอตทัคคะในด้านผู้มีฤทธิ์มาก เป็นเพื่อนสนิทออกบวชมาพร้อมกันกับพระสารีบุตร  ด้วยที่ท่านมีฤทธิ์อภินิหารมากคนที่ไปสักการะถ้ำที่พักของพระโมคคัลลานะจึงนิยมอธิษฐานขอให้มีสุขภาพแข็งแรง
ถ้ำพระมหากัสสปะ 
ถ้ำพระมหากัสสปะ   อยู่ถัดไปจากถ้ำพระโมคคัลลานะอีกเพียงเล็กน้อย พระมหากัสสปะเป็นพระอรหันต์สาวกสำคัญอีกองค์หนึ่งของพระพุทธเจ้า เป็นเอตทัคคะที่ทรงยกย่องและให้ถือเป็นแบบอย่างในด้านผู้ทรงธุดงค์และสรรเสริญคุณแห่งธุดงค์ ภายหลังที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน ท่านได้เป็นประธานในการสังคายนาครั้งที่1 ของศาสนาพุทธ โดยเกิดจากหลังพระพุทธเจ้าปรินิพพานเพียง 7 วัน ก็มีผู้คิดที่จะประพฤติปฏิบัติให้วิปริตไปจากพระธรรมวินัย  จึงชักชวนพระอรหันต์เถระทั้งหลาย ซึ่งล้วนทันเห็นพระพุทธเจ้า เป็นผู้ที่ได้ฟังคำสอนของพระองค์มาโดยตรง เป็นผู้รู้คำสอนของพระพุทธเจ้าให้มาประชุมกันเพื่อช่วยกันรวบรวมและประมวลคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ในการทำสังคยาครั้งนั้นใช้เวลานานถึง 7 เดือนโดยมีพระเจ้าอชาตศัตรูเป็นผู้อุปถัมภ์

กุฏิของพระอานนท์
กุฏิพระอานนท์  กุฏิพระอานนท์ จะเป็นปราการสุดท้ายก่อนถึงที่ประทับของพระพุทธเจ้า พระอานนท์ เป็นพระอรหันต์สาวกของพระพุทธเจ้าที่ทรงยกย่องว่าท่านเป็นเอตทัคคะผู้เลิศกว่าพระภิกษุสาวกทั้งหลาย 500 ประการ คือ เป็นพหูสูต มีสติ มีคติ มีธิติ และเป็นพุทธอุปัฏฐาก  ในสมัยพุทธกาลผู้ที่จะเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าต้องแจ้งพระอานนท์ก่อนเพื่อให้พระอานนท์ไปทูลขออนุญาตจากพระพุทธเจ้า เป็นประเพณีที่ปฏิบัติในขณะนั้น  ด็อกเตอร์นพดลหัวหน้าคณะและไกด์นำเที่ยวอินเดียครั้งนี้ของเราจึงได้พาคณะไปกราบขออนุญาตที่กุฏิพระอานนท์ก่อนไปสักการะพระมูลคันธกุฎีที่ประทับของพระพุทธเจ้า 
พระมูลคันธกุฎี
พระมูลคันธกุฎี เป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้า อยู่บนตำแหน่งสูงสุดของยอดเขาคิชฌกูฏ เป็นที่ที่พระพุทธองค์เสด็จมาประทับอยู่นานและหลายครั้ง ถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดบนเขาคิชฌกูฏ ในสมัยพุทธกาลที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ที่แห่งนี้ จะมีประชาชนจำนวนมากนำเครื่องหอมมากมายมาบูชาทุกๆ วัน จนกลิ่นหอมฟุ้งกระจายไปทั่ว ปัจจุบันก็มีพุทธบริษัททั้ง ภิกษุ นักบวช และผู้คนเดินทางหลั่งไหลกันมามากมายจากทั่วสารทิศของโลกเพื่อให้ได้มาสวดมนต์ กล่าวคำบูชา และเดินทักษิณา และบ้างก็นั่งสวดมนต์ภาวนาและทำสมาธิ รอบๆ พระมูลคันธกุฎี เพื่อเป็นการสักการะบูชาถวายแก่พระพุทธเจ้า
พระมูลคันธกุฎี กุฏิที่ประทับของพระพุทธเจ้าในสมัยพุทธกาล
ณ ขณะเวลาที่เราอยู่ที่บนยอดเขาคิชฌกูฏ แม้นจะใช้เวลาน้อยมากเพียง 2-3 ชั่วโมงเท่านั้น  แต่ด้วยบรรยากาศสิ่งแวดล้อมของสถานที่ ประกอบกับความรู้เรื่องพุทธประวัติที่ไกด์บรรยายมาอย่างพรั่งพรูประหนึ่งทำให้เราเข้าไปอยู่ในช่วงเวลา ณ ขณะนั้นด้วย ทำให้รู้ซึ้งซาบซึ้งอย่างยากจะพรรณาออกมาได้เป็นภาษาเขียนสั้นๆ ให้ได้รับรู้ถึงอารมณ์ร่วมในเวลาที่เราอยู่บนนั้น รู้แต่ว่าทั้งปิติใจ อิ่มเอิบทั้งกายและใจที่ครั้งนี้เราไม่เสียทีที่ได้เกิดมาในร่มเงาพระพุทธศาสนา มาถึงแล้ว ณ ที่ซึ่งครั้งหนึ่งศาสดาของเราเคยประทับและสั่งสอนธรรมอันสร้างความสงบร่มเย็นให้แก่โลกด้วยพระเมตตาอย่างหาที่เปรียบไม่ได้
สักการะพระมูลคันธกุฎี กุฏิที่ประทับของพระพุทธเจ้าบนเขาคิชฌกูฏ อินเดีย
สำหรับคนที่คิดจะไปสักการะพระมูลคันธกุฎีบนบนยอดเขาคิชฌกูฏ ณ กรุงราชคฤห์ ประเทศอินเดีย ขอบอกเลยว่าไม่ต้องกังวลเรื่องการเดินขึ้นไป ไม่ได้ยากหรือเหนื่อยอย่างที่คิด แต่หากคิดว่าเดินไม่ไหวก็ใช้บริการของลูกหาบชาวอินเดียได้ บนยอดเขาแม้นจะมีแดดแรงบ้าง แต่อาจจะเป็นเพราะสายลมเย็นบนยอดเขาทำให้เราไม่รู้สึกว่าร้อนเลย กลับรู้สึกถึงความเย็นและสงบของพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่คงมีเฉพาะผุ้ที่ไปถึงแล้วเท่านั้นจึงจะพอบรรยายบรรยากาศและอารมณ์ที่รับรู้ได้
ยอดเขาคิชฌกูฏ ประเทศอินเดีย
ในที่สุดก็สมควรแก่เวลา คณะของเราก็ต้องเดินกลับลงมาจากจากยอดเขาคิชฌกูฏ เพื่อเดินทางไปมหาวิทยาลัยนาลันทาโดยจะแวะทานอาหารเที่ยงที่วัดไทยนาลันทาก่อน จะมาเขียนให้ได้ติดตามอ่านในเรื่องเล่าตอนต่อไป คอยติดตามนะครับ 

ติดตามอ่านบทความทั้งหมดใน ประสบการณ์เดินทางไปแสวงบุญ 4 สังเวชนียสถาน 8 วัน ในประเทศอินเดียและเนปาล ได้ที่ www..rkatour.com

สนใจเดินทางไปทัวร์แสวงบุญ 4 สังเวชนียสถาน สักการะสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของพระพุทธศาสนา สถานที่ประสูติ ตรัสรู้ ปฐมเทศนา และปรินิพพาน รวมถึงสถานที่สำคัญอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งพุทธกาล สอบถามรายละเอียดการเดินทางได้ที่ โทร. 084-625-9929 

เขียนโดย ศักดิ์เพ็ชร  เรืองแพ
www..rkatour.com