วันพฤหัสบดีที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2564

ขึ้นเขาคิชฌกูฏ อินเดีย

ขึ้นเขาคิชฌกูฏ ประเทศอินเดีย

เขาคิชฌกูฏ ในประเทศอินเดีย  เป็นภูเขาขนาดไม่ใหญ่นักอยู่ทางทิศใต้ของกรุงราชคฤห์ เมืองหลวงของแคว้นมคธในอดีต ปัจจุบันคือจังหวัดนาลันทา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย  เขาคิชฌกูฏมีความสำคัญเกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนาอย่างสำคัญอีก 1 แห่งด้วยเป็นสถานที่ประทับจำพรรษาของพระพุทธเจ้า ในช่วงพรรษาที่ 2, 5, 7 และพรรษาสุดท้ายก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพาน

ทางเดินขึ้นเขาคิชกูฏ ระยะทางประมาณ 1 กม. เดินไม่ไหวก็ใช้บริการลูกหาบได้

เขาคิชฌกูฏ  แปลตามตัวคือเขาอีแร้ง   เนื่องจากมีรูปร่างเหมือนอีแร้ง มีความเชื่อกันว่า ถ้าใครได้ขึ้นถึงยอดเขาคิชฌกูฏสักครั้งในชีวิต ก็เปรียบเหมือนว่า ได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้เพราะบนยอดเขาคิชฌกูฏ เคยเป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้าในช่วงสมัยพุทธกาลเป็นระยะเวลานานพอสมควรนั้นเอง การขึ้นเขาคิชฌกูฏก็ไม่ได้ลำบากอะไรมากเนื่องจากปัจจุบันทางเดินขึ้นสู่ยอดเขาคิชฌกูฏได้รับพัฒนาให้เดินได้อย่างสะดวกสบาย แต่หากใครที่สูงอายุมากหรือขาไม่ดีจะใช้บริการของลูกหาบชาวอินเดียก็ได้ทั้งขาขึ้นและขาลงรวม 2 เที่ยวในราคาประมาณ 600 บาทเท่านั้นเอง ซึ่งนับว่าเป็นความสะดวกสบายในการขึ้นลงเขาคิชฌกูฏมากๆ เลยทีเดียว

จุดเริ่มต้น บริเวณทางขึ้นของเขาคิชฌกูฏ
เมื่อคณะของเราไปถึงบริเวณลานจอดรถเพื่อขึ้นเขาคิชฌกูฏ ในวันนั้นเป็นวันที่ 3 ช่วงสายๆ ของการเดินทาง ซึ่งตรงกับวันที่ 8 มีนาคม 2563 หลังจากคณะของเราออกมาจากจุดชมรอยเกวียนโบราณอายุประมาณ 3,000 ปี มาถึงบริเวณทางขึ้นเขาคิชฌกูฏก็มีห้องสุขาบริการที่สะอาดดีพอสมควร คนที่มาสักการะพระมูลคันธกุฎีบนยอดเขาคิชกูฏจะได้ปลดทุกข์หนักทุกข์เบากันได้สะดวก  และจะได้ขึ้นเขาคิชฌกูฏอย่างมีความสุขกายสุขใจ
ทางขึ้นเขาคิชฌกูฏ อินเดีย
หัวหน้าคณะและไกด์ไทยของเราในทริปนี้ คือ อาจารย์ด็อกเตอร์ นพดล ขวัญชนะภักดี คงจะเห็นว่าคณะของเรามีหนุ่มน้อยสาวน้อยกันหลายคน ก็เลยใจดีไปเช่าไม้เท้ามาให้ถือเดินขึ้นเขาเพื่อเป็นขาที่ 3 ช่วยพยุงตัวเวลาเดินขึ้นเขาจะได้ไม่เหนื่อยมาก จำไม่ได้แล้วว่าค่าเช่าไม้เท้าอันละ 10 หรือ 20 บาท แต่เช่าไม้เท้าหลายอันเลยได้ราคาพิเศษหน่อย สังเกตดูหลายๆ ท่านในคณะของเราได้ประโยชน์จากไม้เท้ามากพอสมควร แต่ถ้าร่างกายไหวผมคิดว่าไม้เท้ามันเป็นภาระมากกว่าโดยเฉพาะผมเองที่ถือกล้องกับขาตั้งกล้องขึ้นมาด้วยเลยคิดว่าไม่มีไม้เท้ามาเป็นภาระอีก 1 อันจะสะดวกกว่า แต่ยืนยันว่าสำหรับผู้สูงอายุที่จะเดินขึ้นเขาคิชฌกูฏ การมีไม้เท้าหรือจะใช้ร่มที่แข็งแรงๆ แทนไม้เท้าเป็นขาที่ 3 ช่วยได้เยอะเลยทีเดียว

ของที่วางขาย บริเวณทางขึ้นเขาคิชฌกูฏ
ตลอดระยะทางขึ้นเขาคิชฌกูฏ นับตั้งแต่จุดเริ่มต้นที่ทางขึ้นจนเกือบถึงครึ่งทางสู่ยอดเขาจะมีร้านค้าของชาวพื้นเมืองมาวางขายของเยอะมากตลอดแนว หลังจากเลยครึ่งทางมาแล้วก็จะพบบ้างประปราย สันนิษฐานเอาว่าราคาสินค้าก็คงแปรผันกับความสูงที่ร้านค้าต้องหอบหิ้วขึ้นมา ก็มีอะไรแปลกๆ น่าสนใจหลายอย่าง บางอย่างก็มีไว้เพื่อนำไปบูชาสถานที่ศักดิ์สิทธิ์บนยอดเขา แต่ส่วนใหญ่จะเป็นของที่ระลึก และที่มีมากพอๆ กับร้านค้าหรืออาจจะมากกว่าร้านค้าด้วยซ้ำ คือคนที่มาขอทาน ก็ไม่แน่ใจว่าใช้คำเหมาะสมหรือไม่ แต่คิดว่าเข้าใจไม่ผิด ตลอดทางขึ้นเราจะได้ยินเสียงเรียกคณะเราที่เป็นผู้หญิงว่า มหารานี สำหรับผู้ชายจะเรียกว่า มหาราชา บ่อยมาก ใครใจดีจะทำทานให้บ้างก็ไม่ว่ากัน แต่ ดร.นพดลเคยเตือนไว้ว่าถ้าไม่อยากรำคาญเดินตามตื้อจากคนที่มาขอเงินอีกกลุ่มใหญ่ ก็อย่าเผลอใจดีเชียว และการจะคุยอะไรกับคนอินเดียต้องคุยให้ชัดเจน โดยเฉพาะราคาสินค้าหรือบริการว่าคิดเป็นสกุลเงินอะไร ไม่อย่างนั้นอาจเสียเหลี่ยมแขกเอาง่ายๆ 
การเดินขึ้นยอดเขาคิชฌกูฏ
ถ้าจะให้บอกความรู้สึกจริงๆ ในการขึ้นสู่ยอดเขาคิชฌกูฏ ที่มีระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร(คาดเดาเอาเอง) ไม่ได้รู้สึกเหนื่อยหรือลำบากอะไรเลย เพราะระหว่างทางไกด์จะบรรยายเรื่องราวความเป็นมาในสมัยพุทธกาลให้ฟังระหว่างที่เดินขึ้นกันไปช้าๆ ไม่ได้รีบร้อนอะไร ก็ได้ทั้งสาระความรู้ และเพลิดเพลินกับทัศนียภาพระหว่างเส้นทาง โดยเฉพาะเห็นการใช้ชีวิตคนอินเดียในอีกรูปแบบที่คงไม่ได้เห็นบ่อยๆ อาจารย์ด็อกเตอร์นพดลท่านมีมุขสนุกๆ รวมทั้งเรื่องเล่าเกี่ยวกับพุทธประวัติที่เกี่ยวข้องกับสถานที่ในอดีตให้ฟังเยอะแยะมากมาย ยังคิดอยู่ว่าเวลา 8 วันที่อยู่กับท่านน้อยไปด้วยซ้ำ แต่ที่จำติดหูมาถึงวันนี้คือ ถ้าอยากไปแบบมีเกียรติต้องไปอินเดีย ถ้าไปแบบขี้ข้าต้องไปอเมริกา ก็น่าจะจริงของท่าน เพราะตั้งแต่เรามาถึงสนามบินอินเดียก็มีแต่คนเรียกเรามหาราชา มหารานีเป็นแถวโดยไม่ได้เช็คกระเป๋าตังที่เรามีด้วยซ้ำ ตรงข้ามไปอเมริกาคนผิวเหลืองอย่างเราที่ไปถึงที่นั่นเขาจะมองเราแบบไหนคงไม่ต้องอธิบาย และคงจะเคยได้ยินไม่น้อยว่าคนไทยที่อเมริกาโดยเฉพาะคนที่ไปเริ่มต้นสตาร์ทชีวิตใหม่ที่นั่นต้องทำอะไรบ้างเพื่อความอยู่รอด

จุดแวะพักครึ่งทาง สู่ยอดเขาคิชฌกูฏ ประเทศอินเดีย
เดินกันแป๊บเดียวเหมือนใช้เวลาไม่นานก็มาถึงจุดพักครึ่งทางกันแล้ว ที่จุดนี้ฟังไกด์เล่าว่าเคยใช้ต้อนรับเจ้านายชั้นสูงที่เดินทางมาสักการะพระมูลคันธกุฎีบนยอดเขาคิชฌกูฏด้วย ก็ให้หนุ่มน้อยสาวน้อยได้แวะพักขากันซักหน่อย คณะของเรามาด้วยกัน 10 คน อยู่หลังกล้อง 1 คน จึงหายไป 1ท่านซึ่งไม่ต้องตกใจ เพราะลูกหาบชาวอินเดียพาไปรออยู่ที่บนยอดเขาแล้ว เดี๋ยวอีกซักครู่ก็เจอกัน การเดินมาเป็นกลุ่มขึ้นยอดเขาคิชฌกูฏพร้อมไกด์ก็ดีเหมือนกันเพราะเราจะได้ฟังเกร็ดความรู้ไปด้วยระหว่างทาง   และเอาความรู้สึกจริงๆ ถ้าเราไม่ได้เป็นโรคเกี่ยวกับการปวดเมื่อยหรือเจ็บขาจนเดินนานๆ ไม่สะดวก การขึ้นเขาคิชฌกูฏก็ไม่ได้เหนื่อยมากมายอะไรเลย แม้นว่าจะมีแดดบ้างแต่อากาศบนยอดเขาลมพัดเย็นสบายมาก ยิ่งช่วงอากาศปลายฤดูหนาวอย่างนี้ พวกเราแทบไม่มีเหงื่อกันเลย ถือเป็นการออกกำลังไปในตัวหลังจากนั่งบนรถติดๆ กันวันละหลายชั่วโมง

ยอดเขาคิชฌกูฏ ประเทศอินเดีย
เล่ามาถึงครึ่งทางของการขึ้นสู่ยอดเขาคิชฌกูฏ ประเทศอินเดีย ซึ่งข้างบนนั้นมีเรื่องราวเยอะแยะมากมาย ถ้านำมาเขียนเล่าเรื่องเลยเกรงว่าบทความจะยาวเยิ่นเย่อเกินไป ขอให้ติดตามต่อในตอนหน้านะครับ ขอให้มงคลสวัสดี ความเป็นมงคลทั้งหลายจงคุ้มครองผู้ประพฤติดี และหวังว่าซักครั้งหนึ่งในชีวิต เราจะได้มีโอกาสไปเที่ยวด้วยกันซักครั้งนะครับ


ติดตามอ่านบทความทั้งหมดใน ประสบการณ์เดินทางไปแสวงบุญ 4 สังเวชนียสถาน 8 วัน ในประเทศอินเดียและเนปาล ได้ที่ www.rkatour.com

สนใจเดินทางไปทัวร์แสวงบุญ 4 สังเวชนียสถาน สักการะสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของพระพุทธศาสนา สถานที่ประสูติ ตรัสรู้ ปฐมเทศนา และปรินิพพาน รวมถึงสถานที่สำคัญอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งพุทธกาล สอบถามรายละเอียดการเดินทางได้ที่ โทร. 084-625-9929 

เขียนโดย ศักดิ์เพ็ชร  เรืองแพ

ไม่มีความคิดเห็น: