วันเสาร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2564

นาลันทา มหาวิทยาลัยสงฆ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก

มหาวิทยาลัยนาลันทา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย
หลังจากเรารับประทานอาหารกลางวันจากวัดไทยนาลันทากันเรียบร้อยแล้ว ช่วงบ่ายเราก็นั่งรถไปเข้าชมมหาวิทยาลัยนาลันทา สถาบันการศักษาที่แรกและเคยมีชื่อเสียงโด่งดังมากที่สุดในโลก คณะของเราใช้เวลาอยู่บนรถไม่นานจากวัดไทยนาลันทาก็มาถึงมหาวิทยาลัยนาลันทาแล้ว ปัจจุบันมหาวิทยาลัยแห่งนี้ก็ยังคงเปิดสอน นั่งรถผ่านก็ยังได้เห็นในส่วนของอาคารสถานที่ที่กำลังทำการสอนและเรียนกันอยู่ ส่วนใหญ่เป็นวิชาทางพระพุทธศาสนามีพระและนักบวชมาศึกษาเล่าเรียนกันมาก แต่ก็ยังเห็นนักศึกษาที่เป็นบุคคลทั่วไปด้วย

สักการะ สถานที่ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นบ้านที่เกิดและดับไปของพระสารีบุตร อัครสาวกฝ่ายขวา

มหาวิทยาลัยนาลันทา มีความสำคัญมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ในอดีตอยู่ในเขตปกครองของแคว้นมคธ   ปัจจุบันนาลันทาอยู่ในการปกครองของรัฐพิหาร ประเทศอินเดีย  ในสมัยอดีตยุคพุทธกาลเมืองนาลันทาก็เป็นศูนย์การศึกษาและเป็นศูนย์รวมของนักปราชญ์นักวิชาการแล้ว  ภายในเขตมหาวิทยาลัยนาลันทามีโบราณสถานที่สำคัญนอกจากกลุ่มอาคารเรียนและที่พักของนักศึกษาแล้ว ยังมีเจดีย์ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งของบ้านเกิดและเป็นที่นิพพานของพระสารีบุตร อัครสาวกฝ่ายขวาผู้เป็นเลิศทางด้านปัญญา ซึ่งท่านสารีบุตรต้องการจะประกาศให้เหล่านักวิชาการแห่งนาลันทาได้รับรู้ความยิ่งใหญ่ในพระสัมมาสัมโพธิญาณของพระพุทธเจ้า 

ไกด์อินเดียซึ่งบังเอิญเป็นเพื่อนสนิทกับ ดร.นพดล เป็นผู้นำชมมหาวิทยาลัยนาลันทา

หลักฐานสำคัญของนาลันทาในทางพระพุทธศาสนา คือการที่พระพุทธเจ้าเคยเสด็จมานาลันทาและทรงแสดงพรหมชาลสูตร ประกาศทิฏฐิ ๖๒ และทรงแสดงเกวัฏฏสูตร แสดงภาวะนิพพานซึ่งเป็นจุดหมายสูงสุดแห่งพระพุทธศาสนา

แผนผังภายในเขตมหาวิทยาลัยนาลันทา

ความเป็นมาของมหาวิทยาลัยนาลันทา ภายหลังพุทธกาล ในยุคของกษัตริย์ราชวงศ์คุปตะพระนามว่าศักราทิตย์ หรือกุมารคุปตะที่ 1 ซึ่งครองราชย์ประมาณ พ.ศ. 958-998 ได้ทรงสร้างวัดอันเป็นสถานศึกษาขึ้นแห่งหนึ่งที่เมืองนาลันทา และกษัตริย์พระองค์ต่อๆ มาในราชวงศ์นี้ก็ได้สร้างวัดเพิ่มขึ้นในโอกาสต่างๆ  ในบริเวณใกล้เคียงกันจนมีรวม 6 วัด  และในที่สุดได้มีการสร้างกำแพงใหญ่ล้อมรอบวัดทั้ง 6 รวมเข้าเป็นพื้นที่เดียวกัน เรียกว่า นาลันทามหาวิหาร และได้กลายเป็นศูนย์กลางการศึกษาที่ยิ่งใหญ่และสำคัญที่สุดของโลก เรียกกันทั่วไปในปัจจุบันว่า “มหาวิทยาลัยนาลันทา”

ห้องเรียนที่พระถังซำจั๋งเคยใช้ศึกษาที่มหาวิทยาลัยนาลันทา

มีบันทึกของหลวงจีนเหี้ยนจังหรือคนไทยรู้จักในนามว่า พระถังซำจั๋ง  ได้จาริกมาเพื่อศึกษาพระพุทธศาสนาที่นาลันทามหาวิหารในช่วงปี พ.ศ. 1172-1187    และได้เขียนบันทึกบรรยายอาคารสถานที่ที่ใหญ่โตและศิลปกรรมที่วิจิตรงดงาม ท่านเล่าถึงกิจกรรมทางการศึกษาที่รุ่งเรือง มีนักศึกษาประมาณ 10,000 คน มีอาจารย์ประมาณ 1,500 คน ยุคนั้นกษัตริย์ได้พระราชทานภาษีที่เก็บจากหมู่บ้าน 200 หมู่บ้านโดยรอบให้เป็นค่าบำรุงมหาวิทยาลัย ผู้เรียนจึงไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น วิชาที่สอนมีทั้ง ปรัชญา โยคะ ศัพทศาสตร์ เวชชศาสตร์ ตรรกศาสตร์ นิติศาสตร์ นิรุกติศาสตร์  โหราศาสตร์ ไสยศาสตร์ และตันตระ แต่ที่เด่นชัดที่สุดก็คือ นาลันทาเป็นศูนย์กลางการศึกษาพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน และเพราะความที่มีกิตติศัพท์เลื่องลือมาก จึงมีมีนักศึกษาเดินทางมาจากหลายประเทศเช่น จีน ญี่ปุ่น เอเซียกลาง สุมาตรา ชวา ทิเบต และมองโกเลีย เป็นต้น หอสมุดของนาลันทาใหญ่โตมากและมีชื่อเสียงไปทั่วโลก เมื่อคราวที่ถูกเผาทำลายในสมัยต่อมาโดยคนต่างศาสนา มีบันทึกกล่าวว่าหอสมุดของนาลันทามหาวิหารมีไฟไหม้อยู่เป็นเวลาหลายเดือนกว่าจะมอดดับไป

ภายในอาคารเรียนของนาลันทามหาวิหาร ยังมีแบ่งเป็นห้องเก็บเสบียงสำหรักผู้ที่มาเล่าเรียน

ช่วงบั้นปลายของมหาวิทยาลัยนาลันทา ได้หันไปสนใจการศึกษาพุทธศาสนาแบบตันตระ ที่ทำให้เกิดความย่อหย่อนและหลงเพลินทางกามารมณ์ ซึ่งเมื่อพระที่ควรงดเว้นเรื่องกามตามหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาหันมาเสพกามเสียแล้ว ก็ทำให้เหล่าอุบาสกอุบาสิกาเริ่มเสื่อมศรัทธาจนส่งผลให้ไม่สนใจใยดีพระศาสนา ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของพระสงฆ์ฝ่ายเดียว ต่างจากลัทธิพราหมณ์ที่เริ่มปรับตัวพื่อต่อสู้กับการเจริญเติบโตของพุทธศาสนาจนกลายเป็นศาสนาฮินดู การปรับตัวของลัทธิพราหมณ์ได้แก่ เดิมไม่มีนักบวชก็มีนักบวช ที่ไม่เคยมีวัดก็มีวัด จากการเข่นฆ่าบูชายัญสัตว์ก็หันมานับถือสัตว์บางประเภทและประกาศไม่กินเนื้อเช่น วัว สร้างเรื่องให้พระพุทธเจ้าก็กลายเป็นอวตารหนึ่งของเทพเจ้าในศาสนาฮินดูและทำให้พุทธศาสนากลมกลืนกับศาสนาฮินดูมากขึ้น ซึ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้พระพุทธศาสนาในอินเดียเสื่อมโทรมลงในที่สุด

อาคารเรียนของ นาลันทา มหาวิหาร

การล่มสลายของมหาวิทยาลัยนาลันทา ประมาณ พ.ศ. 1742 กองทัพมุสลิมเติรกส์ได้ยกมารุกรานรบชนะกษัตริย์แห่งชมพูทวีปฝ่ายเหนือ และเข้ามาครอบครองดินแดน ในครั้งนั้นกองทัพมุสลิมเติรกส์ได้เผาผลาญทำลายวัดและปูชนียสถานในพุทธศาสนาลงแทบทั้งหมด และสังหารผู้ที่ไม่ยอมเปลี่ยนศาสนา นาลันทามหาวิหารก็ถูกเผาผลาญทำลายลงจนพินาศในช่วงระยะเวลานั้นด้วย  ต่อมาท่านมุทิตาภัทร รัฐมนตรีของกษัตริย์ในสมัยนั้นได้จัดทุนทรัพย์จำนวนหนึ่งส่งไปจากแคว้นมคธ เพื่อช่วยเหลือซ่อมแซมปฏิสังขรณ์วัดวาอารามที่นาลันทาขึ้นมาใหม่แต่ก็ทำได้บางส่วนเท่านั้น แต่แล้ววันหนึ่งได้มีปริพาชก 2 คนได้เข้ามาประกอบพิธีกรรมทางศาสนาของตนขึ้นและเมื่อคิดว่าเพียงพอแล้วที่จะอยู่ที่นาลันทาต่อไป จึงได้รวบรวมเศษไม้แล้วก่อไฟขึ้น พร้อมทั้งขว้างปาดุ้นฟืนที่ติดไฟไปตามสถานที่ต่างๆ โดยรอบ จนกระทั่งเกิดไฟลุกไหม้ไปทั่วมหาวิทยาลัยนาลันทา จนสุดที่จะทำการซ่อมแซมปฏิสังขรณ์ให้คืนดีได้ดังเดิม มหาวิทยาลัยนาลันทาก็เป็นอันสิ้นสุดลงมาตั้งแต่บัดนั้น 

พื้นที่ภายใน มหาวิทยาลัยนาลันทากว้างขวางใหญ่โตมาก

สถาบันนาลันทาใหม่ เมื่อไม่นานมานี้ประเทศอินเดียได้ตื่นตัวและตระหนักถึงความสำคัญของพระพุทธศาสนาที่มีบทบาทอันยิ่งใหญ่ในการสร้างสรรค์อารยธรรมของชมพูทวีป รวมทั้งบทบาทของมหาวิทยาลัยนาลันทาด้วย ในปี พ.ศ. 2494 ก็ได้มีการจัดตั้งสถาบันบาลีนาลันทา ชื่อว่า “นวนาลันทามหาวิหาร” เพื่อแสดงความรำลึกคุณและยกย่องเกียรติแห่งพระพุทธศาสนา พร้อมทั้งเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่นาลันทามหาวิหาร มหาวิทยาลัยที่ยิ่งใหญ่ในสมัยอดีต โดยสร้างขึ้นจากความเลื่อมใสของหลวงพ่อเจ กัสสปะ สังฆนายกรูปแรกของสงฆ์อินเดีย ท่านเป็นชาวเมืองรานชี รัฐจักกัน ท่านเกิดในตระกูลที่ร่ำรวย เมื่อเป็นหนุ่มได้ศึกษาพุทธประวัติแล้วเกิดความศรัทธาอย่างแรงกล้า จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุที่ประเทศศรีลังกา และได้ออกปาฐกแสดงเรื่องความยิ่งใหญ่ของมหาวิทยาลัยนาลันทาในอดีต แก่ผู้นำรัฐบาลในกรุงนิวเดลี และในที่สุดก็ประสบความสำเร็จ มหาวิทยาลัยนาลันทาได้กลับมาเปิดสอนใหม่อีกครั้งในปี พ.ศ. 2494 และท่านได้เป็นครูสอนและผู้บริหารของสถาบันนี้ด้วย โดยครั้งแรกได้เปิดสอนที่วัดจีนนาลันทา แล้วภายหลังได้ย้ายมาอยู่ตรงกันข้ามกับนาลันเก่า ต่อมาชาวมุสลิมที่อยู่ที่หมู่บ้านนาลันทา ต้องการจะไถ่บาปที่บรรพบุรุษของตนได้ทำไว้แก่ชาวพุทธ จึงมอบที่ดินจำนวน 12 ไร่ เพื่อสร้างเป็นสถาบันบาลีนาลันทาแห่งใหม่ สร้างเสร็จในปี พ.ศ. 2500  เปิดสอนด้านภาษาบาลีและพระพุทธศาสนาตั้งแต่ระดับปริญญาตรี-ปริญญาเอก โดยได้รับการรับรองและสนับสนุนจากรัฐบาลกลางนิวเดลลีของอินเดีย มีพระสงฆ์จากประเทศต่างๆ เช่น ไทย พม่า กัมพูชา อินเดีย บังคลาเทศ ไปศึกษาอยู่เป็นจำนวนมาก 

สถานที่อันเคยเป็นบ้านที่เกิดและที่ตายของพระสารีบุตร ภายในเขตรั้วของ มหาวิทยาลัยนาลันทา

คณะของเราทั้ง 10 คน ได้เดินดูและฟังเรื่องเล่าจากไกด์อินเดียถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของมหาวิทยาลัยนาลันทา  ได้เห็นสัจธรรมการเกิด การเติบโต ความรุ่งเรืองรุ่งโรจน์ขีดสุด ความเสื่อมถอย และในที่สุดก็ถึงกาลแตกดับของมหาวิทยาลัยนาลันทาที่แสนจะยิ่งใหญ่ ซึ่งก็เป็นเฉกเช่นเดียวกับการเกิดและแตกดับของมนุษย์คนนึง อดีตแก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว ก็คงมีแต่ปัจจุบันกับความเป็นจริง 

ภายในมหาวิทยาลัยนาลันทา กว้างขวางใหญ่โตมาก เผลอๆ อาจจะหลงทางได้ง่ายๆ
ไปอินเดียครั้งนี้ได้เห็นอะไรหลายๆ อย่าง และรู้ว่า คำสอนของพระพุทธเจ้าไม่ใช่เรื่องไกลตัวเลย ทุกข์และสุขก็ใกล้ตัว นิพพานก็ใกล้ตัว ก็อยู่ที่บารมีของแต่ละคนว่าจะทำอย่างไรกับความสุขและความทุกข์ที่มันจะหมุนเวียนเข้ามาให้เราพบเจออีกมากมายจนกว่าวาระสุดท้ายจะมาถึง ออกจากนาลันทาคืนนี้เราก็จะไปพักกันที่วัดไทยไวสาลี ติดตามตอนต่อไปนะครับ

ติดตามอ่านบทความทั้งหมดใน ประสบการณ์เดินทางไปแสวงบุญ 4 สังเวชนียสถาน 8 วัน ในประเทศอินเดียและเนปาล ได้ที่ www.rkatour.com

สนใจเดินทางไปทัวร์แสวงบุญ 4 สังเวชนียสถาน สักการะสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของพระพุทธศาสนา สถานที่ประสูติ ตรัสรู้ ปฐมเทศนา และปรินิพพาน รวมถึงสถานที่สำคัญอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งพุทธกาล  สอบถามรายละเอียดการเดินทางได้ที่ โทร. 084-625-9929  

เขียนโดย ศักดิ์เพ็ชร  เรืองแพ
www.rkatour.com

ไม่มีความคิดเห็น: