วันเสาร์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2564

เดินทางสู่พุทธคยา

ชิมอาหารอินเดีย ระหว่างไปพุทธคยา

 วันนี้เป็นวันที่ 2 จากจำนวนทั้งหมด 8 วันของการเดินทางไปแสวงบุญที่ประเทศอินเดียและประเทศเนปาล เมื่อวานเราได้ไปธัมเมกขสถูปและไปล่องเรือชมแม่น้ำคงคาแล้วไปนอนพักกันที่วัดไทยพาราณสีพุทธวิปัสสนาซึ่งได้รับความสะดวกสบายมากๆ  สามารถย้อนกลับไปอ่านรายละเอียดได้ในบทความก่อนหน้านี้

อาหารเช้าที่วัดไทยพาราณสีพุทธวิปัสสนา

วันนี้คณะตื่นกันประมาณ ตีสี่ถึงตีห้าของเวลาอินเดีย ที่ช้ากว่าบ้านเรา 1 ชั่วโมง อากาศในอินเดียแถบพาราณสี ช่วงต้นเดือนมีนาคม ยังคงเป็นปลายฤดูหนาวอากาศเย็นทุกคนจึงนอนกันสบายมาก ตื่นเช้าวันนี้นัดกันไว้ว่าเราจะแต่งชุดขาวด้วยกัน เพราะช่วงบ่ายวันนี้เราจะเดินทางไปพุทธคยาสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของพระพุทธศาสนา จึงอยากแต่งกายให้สะอาดและทำใจให้บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว สมกับที่เราได้มีวาสนามาถึงสถานที่ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้

ข้าวต้มมื้อเช้า ที่วัดไทยพาราณสี

ต้องชื่นชมว่าอาหารที่วัดไทยพาราณสี แม้จะเป็นอาหารง่ายๆ แต่รสชาติอร่อยถูกปากมาก ที่กล้ายืนยันเพราะเมื่อวานคณะของเรากินอาหารที่วัดนี้ทั้งมื้อเที่ยง เย็น และดึก มาวันนี้ก็ต่อด้วยมื้อเช้า รวม 4 มื้อ อร่อยทุกมื้ออาหารไม่ซ้ำกันเลย อาหารที่วัดไทยพาราณสีเป็นเมนูอาหารไทยแท้ปรุงโดยแม่ครัวคนไทย วัตถุดิบเครื่องปรุงหลายอย่างก็นำไปจากเมืองไทย รสชาติจึงไม่แตกต่างกับการกินอาหารที่เมืองไทย เรียกว่าคณะของเราโดยเฉพาะคนที่ค่อนข้างกินอาหารต่างถิ่นยากและไม่ชอบกลิ่นเครื่องเทศแบบอาหารอินเดียจึงยังไม่เดือดร้อนเรื่องอาหาร แต่ไม่ใช่ว่าในทริปนี้จะไม่ได้กินอาหารอินเดีย เพราะไปบ้านเขาเมืองเขาทั้งทีก็ต้องลองกันหน่อย

อาหารกลางวันแบบอินเดีย ระหว่างทางไปพุทธคยา

หลายคนคงเคยฟังเรื่องเล่า ว่าการเดินทางไปแสวงบุญที่อินเดียค่อนข้างลำบาก ต้องนั่งรถไกลมากกว่าจะไปถึงแต่ละที่ ถนนก็ไม่ค่อยดี ห้องน้ำก็ลำบาก บางทีต้องถ่ายทุกข์กันข้างถนน ต้องบอกว่าจริงครับ แต่เป็นความจริงทั้งหมดของเมื่อก่อน  ปัจจุบันการเดินทางแทบจะเรียกว่าสะดวกและสบายมาก ระยะทางยังคงไกลเท่าเดิมแต่ต้องคิดว่าเรานั่งรถสบายๆ แต่ในสมัยของพระพุทธเจ้าทรงดำเนินด้วยพระบาทเส้นทางก็เป็นป่ากันดาร ลำบากกว่าเราหลายพันหลายหมื่นเท่า เรื่องถนนหนทางตลอดเส้นที่เดินทางไปแสวงบุญ 4 สังเวชนียสถานสะดวกขึ้นมากด้วยทางราชการของอินเดียทำถนนลาดยางอย่างดี วิ่งรถกันสะดวกสบาย  แต่น่าสังเกตุคือบริเวณชุมชนที่มีคนพลุกพล่านถนนกลับเป็นลูกรังเป็นหลุมเป็นบ่อ ไกด์เล่าว่าที่เป็นอย่างนั้นเพราะชาวบ้านไม่ต้องการให้รถวิ่งเร็วในเขตชุมชน เนื่องจากมีทั้งเด็กคนแก่และคนเดินถนนเยอะมาก เพื่อป้องกันอุบัติเหตุดังนั้นไม่ว่าทางการจะทำถนนกี่ครั้งไม่นานก็จะถูกทำให้ถนนเป็นหลุมเหมือนเดิม (อันนี้ไกด์อินเดียเล่ามานะครับ ไม่ยืนยันข้อมูล) 

แวะเข้าห้องน้ำในปั๊มน้ำมัน ซึ่งหาค่อนข้างยากในเส้นทางที่รถผ่าน

ส่วนห้องน้ำส่วนใหญ่ก็พอจะแวะเข้าปั๊มน้ำมันได้แม้จะอยู่ห่างกันค่อนข้างไกลกว่าจะได้เจอปั๊มน้ำมันที่มีห้องน้ำก็พอทนได้ แต่ตลอดทริป 8 วัน ก็มี 1 ครั้งที่เราได้ลองประสบการณ์เข้าห้องน้ำแบบอินเดีย ก็ไม่ได้ลำบากยากอะไร  เพราะคนขับรถนำเที่ยวรู้ใจคนไทยต้องการอะไรแบบไหน

ร้านอาหารกลางวัน ระหว่างเส้นทางไปพุทธคยา

จากสารนาถเราออกจากวัดไทยพาราณสีพุทธวิปัสสนาถึงพุทธคยา มีระยะทางกว่า 250 กิโลเมตร รถต้องใช้เวลาในการเดินทางกว่า 6 ชั่วโมง ตามแผนแล้วแม้ว่าเราจะออกจากสารนาถตั้งแต่เช้าตรู่ ยังไงเราก็ต้องแวะพักกินอาหารกลางวันระหว่างทางกันก่อน เลือกได้ร้านอาหารข้างทางดูใหญ่โตที่สุด มีคนเข้าไปนั่งกินกันพลุกพล่าน สังเกตหน้าตาของลูกค้าส่วนใหญ่ก็น่าจะเป็นคณะคนไทยกว่าครึ่ง  ที่เหลือก็นานาชาติที่สันนิษฐานว่าส่วนใหญ่จะไปพุทธคยาเหมือนเรา เพราะช่วงเดือนนี้เป็นเดือนสุดท้ายของการเปิดให้ไปแสวงบุญ 4 สังเวชนียสถาน เนื่องจากตั้งแต่เดือนเมษายนไปแล้วอากาศในอินเดียจะเข้าสู่ฤดูร้อนซึ่งร้อนมาก ร้อนเกิน 40 องศาเซลเซียสและอาจจะมากกว่าอีกหลายองศาด้วย จึงไม่เหมาะในการเดินทางไปแสวงบุญ 

จัย และ จาปาตี

และแล้วมื้อเที่ยงวันนี้เราก็ได้ลองกินอาหารอินเดียเป็นมื้อแรก เพิ่งได้รู้อีกว่าคนอินเดียส่วนใหญ่กินมังสวิรัติไม่ทานเนื้อสัตว์ยกเว้นไข่กับนม เมนูเที่ยงนี้ได้กิน จาปาตี กินคู่กับซุปแกงถั่วซึ่งจำไม่ได้แล้วว่าเรียกอะไร แต่คงมาเฉลยให้รู้ในบทความต่อๆ ไป เพราะยังอยู่อินเดียอีกหลายวัน กินเสร็จได้ซด จัย หรือชาร้อนแบบอินเดีย ก็อร่อยแบบแปลกๆ ดี

 จาปาตี และซุปแกงถั่ว กับจัย ร้อนๆ อาหารเที่ยงของเราในวันนี้

จาปาตี หรือ Japati หรือ Chapatti  รูปร่างคล้ายโรตีแต่ไม่ใช่โรตีแบบบ้านเรา ซึ่งผมเดาเอาว่าไทยอาจจะเอาสูตรจาปาตีของอินเดียมาดัดแปลงจนเป็นสูตรที่ถูกปากคนไทยที่  จาปาตีเป็นแป้งที่ไม่ใส่ยีสต์แล้วนำมาจี่หรือย่างบนกระทะแบนๆ โดยไม่ใช้น้ำมัน กินกับซุปแกงถั่ว ถ้าจะให้อร่อยต้องกินตอนร้อนๆ  แรกกิน ก็รู้สึกรสชาติแปลกๆ กับรสชาติ แต่พอกินเข้าไปหลายๆ คำ ผมกลับรู้สึกว่าอร่อยดี และผมคิดว่าผมกินชอบจาปาตีนะ เพราะปกติผมกินโรตีก็ไม่ใส่แป้งไม่ใส่นม มันก็คล้ายๆ กัน แต่จาปาตีเขาจี่บนกระทะร้อนๆ ไม่มีน้ำมันหรือเนยช่วยทอด ถ้าเรากินจาปาตีเปล่าๆ จะรู้สึกแห้งๆ ฝืดคอนิดหนึ่ง แต่ถ้ากินกับแกงถั่วก็รู้สึกเข้ากันดี คนอื่นที่มาด้วยกันจะรู้สึกอย่างไรผมไม่กล้าถาม แต่ผมว่าสำหรับผมก็ OK นะ

จาปาตี และชาอินเดีย

 จัย หรือชาร้อนแบบอินเดีย เสริฟมาแบบร้อนมากๆ ถ้าเผลอรีบซดเข้าไปอาจลวกตั้งแต่คอถึงลำไส้ได้เลย จัยหรือชาอินเดียทั้งหวานทั้งมันและเข้มข้นมาก ไกด์บอกว่า คนอินเดียชอบดื่มจัยมาก จัยของคนอินเดียมีหลายสูตรแตกต่างกันไปตามภูมิประเทศ  ไกด์เล่าให้ฟังอีกว่าคนอินเดียแทบทุกคนที่โตแล้วชอบดื่มจัยมาก จัยเปรียบประมาณเครื่องดื่มชูกำลังที่ขายดีบ้านเราเลย  คือกินแล้วทั้งให้พลังงานและให้ความสดชื่น แต่ผมรู้สึกว่ามันหวานและมันมากไปหน่อยสำหรับผม  สำหรับอาหารมื้อนี้ ผมสังเกตดูอาหารบนโต๊ะทั้งของคณะเราและของคณะคนอื่นส่วนใหญ่ก็กินหมดไม่เหลือ แสดงว่าอาหารอินเดียมื้อนี้ถ้าไม่อร่อยก็คงกำลังหิวมาก ตอนนี้อิ่มแล้วก็ขอเข้าห้องน้ำกันให้เรียบร้อย เดี๋ยวเราต้องนั่งรถกันอีกพอสมควร สถานีถัดไปคือบ้านของนางสุชาดามหาอุบาสิกา ผู้ที่ถวายเข้ามธุปายาสแก่พระบรมโพธิสัตว์ก่อนจะตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในวันรุ่งขึ้น

บทความต่อไป ไปเยือนบ้านนางสุชาดา มหาอุบาสิกาคนแรกของโลก

ติดตามอ่านบทความทั้งหมดใน ประสบการณ์เดินทางไปแสวงบุญ 4 สังเวชนียสถาน 8 วัน ในประเทศอินเดียและเนปาล ได้ที่  www.rkatour.com

สนใจเดินทางไปทัวร์แสวงบุญ 4 สังเวชนียสถาน สักการะสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของพระพุทธศาสนา สถานที่ประสูติ ตรัสรู้ ปฐมเทศนา และปรินิพพาน รวมถึงสถานที่สำคัญอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งพุทธกาล  สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 084-625-9929 

เขียนโดย ศักดิ์เพ็ชร  เรืองแพ

ไม่มีความคิดเห็น: