วันจันทร์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2564

โสตถิยพราหมณ์ ผู้ถวายหญ้ากุศะ

บ้านของโสตถิยพราหมณ์ ผู้ถวายหญ้ากุศะ
 จากที่เล่าไปตอนที่แล้วถึงเหตุการณ์สำคัญในวันเพ็ญเดือน 6 นับถอยหลังไป 45 ปีก่อนพุทธกาล ซึ่งเป็นวันที่พระสมณโคดมหรือเจ้าชายสิทธัตถะได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้าขณะพระชนมายุ 35 พระชันษาคือ หลังจากนางสุชาดาได้นำข้าวมธุปายาสพร้อมถาดทองคำไปถวายแก่พระสมณโคดมที่ใต้ต้นไทรริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชราเพราะเข้าใจว่าพระพุทธเจ้าในขณะนั้นคือรุกขเทวดา เพราะนางสุชาดาได้บวงสรวงแก่ต้นไทรใหญ่ไว้เมื่อสมัยวัยรุ่นว่า หากนางได้แต่งงานกับคนที่มีชาติหรือฐานะเสมอกัน และให้กำเนิดลูกชายเป็นคนแรก นางจะมาถวายพลีกรรมแก่ต้นไทรใหญ่นี้มูลค่าหนึ่งแสนทุกปี  ย้อนกลับไปดูบทความเต็มได้ ที่นี่

บ้านของพราหมณ์โสตถิยะ

ครั้นเมื่อพระสมณโคดมหรือเจ้าชายสิทธัตถะได้เสวยข้าวมธุปายาสจนหมด ก็ได้ตั้งจิตเสี่ยงทายลอยถาดทองคำในแม่น้ำเนรัญชรา ครั้นตกตอนเย็นพระองค์ก็ได้เสด็จกลับข้ามแม่น้ำเนรัญชราซึ่งในฤดูร้อนน้ำในแม่น้ำจะแห้งขอดเดินข้ามไปข้ามมาได้สะดวกเพื่อคืนสู่โคนต้นโพธิ์ที่พระองค์ประทับบำเพ็ญเพียร ระหว่างทางที่เสด็จกลับได้พบกับพราหมณ์นามว่าโสตถิยะซึ่งมีบ้านอยู่ติดกับฝั่งของแม่น้ำเนรัญชรา มองเห็นเจดีย์พุทธคยาซึ่งเป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าประทับได้ชัดเจนเพราะไม่ไกลกัน 

บ้านของโสตถิยพราหมณ์อยู่ติดฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ไม่ไกลจากบ้านของนางสุชาดา

พราหมณ์โสตถิยะได้ถวายหญ้ากุศะจำนวน 8 กำมือ หรือจะเรียกหญ้ากุสะก็ไม่ผิด  เมื่อพระองค์ได้รับหญ้ากุศะที่โสตถิยพราหมณ์ถวายก็นำไปปูลาดที่โคนต้นโพธิ์ แล้วประทับนั่งหันหน้าไปทางทิศตะวันออก หันหลังเข้าหาต้นโพธิ์ ทรงอธิษฐานว่า "ถ้ายังไม่ได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณก็จะไม่เสด็จลุกขึ้น ถึงแม้เนื้อและเลือดจะเหือดแห้งไป เหลือแต่หนัง เอ็น และกระดูกก็ตามที" และคืนนั้นเองที่พระองค์ก็ได้บรรลุธรรมขั้นสูงสุดเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

พื้นที่บ้านของโสตถิยพราหมณ์ที่ได้รับการอนุรักษ์รักษาไว้

เป็นความเข้าใจผิดของคนไทยส่วนใหญ่ที่เข้าใจว่า หญ้ากุศะที่พราหมณ์โสตถิยะถวายให้พระพุทธเจ้ารองนั่งเป็นหญ้าคา แม้แต่ผู้แปลข้อความเป็นภาษาไทยที่บ้านของโสตถิยพราหมณ์ก็ยังแปลว่าหญ้ากุศะคือหญ้าคา เมื่อได้เดินทางไปอินเดียครั้งนี้จึงได้พบเห็นและได้ฟังผู้รู้ที่เข้าใจวัฒนธรรมอินเดียอย่างลึกซึ้งอธิบายว่า หญ้ากุศะไม่ใช่หญ้าคา แต่มีลักษณะคล้ายกันแต่ใบอ่อนนุ่มกว่า

หน้าบ้านของพรามหณ์โสตถิยะคือแม่น้ำเนรัญชรา ฤดูร้อนน้ำแห้งเห็นหญ้ากุศะเป็นกอแห้งๆ ประปราย

หญ้ากุศะไม่ใช่หญ้าคาแต่เป็นหญ้าชนิดหนึ่งมีถิ่นกำเนิดที่ประเทศอินเดียและเนปาล หญ้ากุศะชอบขึ้นเป็นกอใหญ่อยู่ในที่แห้งริมฝั่งแม่น้ำ มีใบอวบยาว  ดอกเป็นช่อรูปพีระมิดหรือเป็นแท่งตั้งตรงแข็งสีน้ำตาลอ่อน ออกดอกตลอดฤดูฝน ขยายพันธุ์ได้โดยการเพาะเมล็ด และแยกกอ หญ้ากุศะมีหลายชนิดทั้งที่มีใบนุ่มรากมีกลิ่นหอมและประเภทที่มีใบแข็งคม  ชาวฮินดูนับถือว่าหญ้ากุศะมีความศักดิ์สิทธิ์เช่นกัน โดยนำหญ้ากุศะหรือกุสะมาประกอบพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ในวันแรม 15 ค่ำเดือน 9 หรือที่เรียกว่า กุโศตปาฎนีอมาวสยา เพื่อเป็นการบูชาพระกฤษณะ  หญ้ากุศะยังมีสรรพคุณทางยาสมุนไพร โดยใช้ทั้งต้นเป็นยาฝาดสมานขับปัสสาวะ ขับเสมหะ รากมีรสหวาน เป็นยาเย็น แก้อาการกระหายน้ำได้อีกด้วย

โสตถิยพรหมณ์ ผู้ถวายหญ้ากุศะให้พระพุทธเจ้า

หญ้ากุศะชนิดที่ใบนุ่มไม่แข็งมากและรากมีกลิ่นหอม  คนอินเดียนิยมนำมาใช้ถักเป็นเชือกขึงเป็นเตียงนอน ส่วนหญ้ากุศะที่เป็นกอสูงใหญ่ก็นำมาใช้มุงหลังคาได้ด้วย พราหมณ์ฮินดูนิยมใช้ในพิธีกรรมสลัดน้ำมนต์  โสตถิยพราหมณ์ซึ่งชื่อนี้เป็นแปลว่าสวัสดี จึงสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นชื่อของพราหมณ์ที่ทำพิธีเพื่อความสวัสดีมงคล ดังนั้นผู้รู้จึงอธิบายว่าหญ้าที่พราหมณ์โสตถิยะเก็บมาจึงต้องเป็นหญ้ากุศะที่เอามาใช้ในงานมงคล จึงยืนยันได้ว่า หญ้าที่โสตถิยพราหมณ์ถวายแก่พระพุทธเจ้าจึงต้องเป็นหญ้ากุศะชนิดที่ใบอ่อนนุ่มและรากมีกลิ่นหอมที่พราหมณ์ฮินดูนิยมนำมาใช้ในงานมงคล ไม่ใช่หญ้าคาซึ่งใบแหลมคมและรู้สึกระคายเคืองเมื่อสัมผัสอย่างที่คนไทยส่วนใหญ่เข้าใจกัน

ข้อความภาษาไทยที่มีผู้แปลติดไว้ที่บ้านโสตถิยพราหมณ์

ผู้นับถือพุทธศาสนาจึงเชื่อว่าหญ้ากุศะมีความสำคัญและศักดิ์สิทธิ์เช่นกันเพราะเป็นหญ้าที่รองประทับนั่งของพระบรมโพธิสัตว์ในคืนที่ทรงบรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นศาสดาเอกของโลก จึงมีการใช้หญ้ากุศะในพิธีมงคลประพรมน้ำพุทธมนต์ เมื่อทราบอย่างนี้แล้วพวกเราจึงได้รู้และมั่นใจว่าหญ้ากุศะก็คือหญ้ากุศะหรือกุสะที่พบเจอทั่วๆไปในอินเดีย แม้แต่ช่วงเวลาที่คณะของเราไปก็เห็นหญ้ากุศะบริเวณริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา เพียงแต่คณะของเราต้องรีบเดินทางต่อเพื่อไปสักการะเจดีย์พุทธคยา จึงไม่ทันได้ไปถ่ายรูปหญ้ากุศะใกล้ๆ ดังนั้นตอนนี้เราจึงรู้แล้วว่าหญ้ากุศะไม่ใช่หญ้าคาตามที่คนไทยส่วนใหญ่เข้าใจกัน

ข้างบ้านของพราหมณ์โสตถิยะก็มีต้นโพธิ์ใหญ่ที่อนุรักษ์ไว้

นี้ก็เป็นเพียงครึ่งวันของวันที่สองเท่านั้นในการทัวร์แสวงบุญ 4 สังเวชนียสถาน จากกำหนดการทั้งหมด 8 วัน เราก็ได้รู้ได้เห็นและเข้าใจเรื่องราวในพุทธประวัติได้ชัดเจนแจ่มใสราวกับว่าประหนึ่งร่วมอยู่ในเหตุการณ์นั้นๆ ด้วย ทำให้ข้อกังขาสงสัยหลายๆ เรื่องที่ค้านอยู่ในใจจากการฟังเรื่องราวและเรียนรู้มาอย่างผิวเผิน ค่อยๆ มลายหายไปทีละเปลาะ 

เจดีย์พุทธคยา พบพุทธศาสนิกชนหลายเชื้อชาติ จากหลากหลายประเทศมุ่งหน้ามาที่นี่เยอะมาก

นับว่าเป็นกุศลยิ่งแล้วที่เราได้มารู้และเห็นกับตาตนเองแบบนี้ ซักครู่คณะของเราก็จะออกจากบ้านของพราหมณ์โสตถิยะ มุ่งหน้าสู่เจดีย์พุทธคยา ติดตามอ่านต่อในบคความหน้านะครับ

ติดตามอ่านบทความทั้งหมดใน ประสบการณ์เดินทางไปแสวงบุญ 4 สังเวชนียสถาน 8 วัน ในประเทศอินเดียและเนปาล ได้ที่  www.rkatour.com

สนใจเดินทางไปทัวร์แสวงบุญ 4 สังเวชนียสถาน สักการะสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของพระพุทธศาสนา สถานที่ประสูติ ตรัสรู้ ปฐมเทศนา และปรินิพพาน รวมถึงสถานที่สำคัญอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งพุทธกาล  สอบถามรายละเอียดการเดินทางได้ที่ โทร. 084-625-9929 

เขียนโดย ศักดิ์เพ็ชร  เรืองแพ

ไม่มีความคิดเห็น: