วันเสาร์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2564

วัดไทยลัฏฐิวันมหาวิหาร

วัดไทยลัฏฐิวันมหาวิหาร
วันนี้ย่างเข้าวันที่ 3 ในการเดินทางไปแสวงบุญที่ประเทศอินเดียและประเทศเนปาล ตามที่เล่ามาหลายตอนแล้ว สามารถเข้าไปติดตามอ่านบทความในทริปทัวร์แสวงบุญ 4 สังเวชนียสถานครั้งนี้ในแต่ละตอน และแต่ละวันแบบเต็มๆ ได้ที่ http://tourthai.online/touroutbound.html

อาหารเช้าที่วัดไทยมคธพุทธวิปัสสนา
เมื่อคืนซึ่งเป็นคืนที่ 2ของโปรแกรมทัวร์แสวงบุญครั้งนี้ คณะของเราซึ่งมีทั้งหนุ่มหล่อและสาวสวยเดินทางมาด้วยกันครั้งนี้ รวม 10 คนพอดี ได้เข้าพักค้างคืนที่วัดไทยมคธพุทธวิปัสสนา เช้านี้เรานัดมาทานอาหารเช้าด้วยกันตั้งแต่เวลา 05.00 น. ซึ่งน่าดีใจที่คณะของเราค่อนข้างรักษาเวลาได้ดีมาก จึงมีกิจกรรมเสริมหรือบรรยายพิเศษให้ในแต่ละวัน ทำให้ผู้เดินทางได้ทั้งสาระและความบันเทิงมากยิ่งขึ้น ก็นับเป็นข้อดีหนึ่งในหลายๆ ข้อของการรักษาเวลาในการเดินทางเมื่อไปเที่ยวกันเป็นหมู่คณะ

ถ่ายภาพหมู่ร่วมกันที่วัดไทยมคธพุทธวิปัสสนา พุทธคยา อินเดีย

ครั้นเมื่อรับประทานอาหารเช้าและเก็บสัมภาระขึ้นรถกันเป็นที่เรียบร้อย คณะของเราก็อำลาและเดินทางออกจากวัดไทยมคธพุทธวิปัสสนาในเวลาประมาณ 06.00 น. เพื่อมุ่งหน้าสู่กรุงราชคฤห์ เมืองของพระเจ้าพิมพิสาร ซึ่งแม้จะไม่ได้เป็นที่ตั้งของสถานที่สำคัญในสังเวชนียสถานแต่ก็มีความสำคัญในพุทธประวัติอย่างยิ่งอีกเมืองหนึ่งที่ไม่ควรพลาด
ถ่ายกับไกด์หนุ่มหล่อชาวอินเดีย ที่มาอำนวยความสะดวกตลอดการเดินทาง
เมื่อรถนำเที่ยวของเราออกจากเมืองคยามุ่งหน้าสู่กรุงราชคฤห์ แม้นว่าระยะทางไม่ไกลมากและถนนหนทางก็สะดวกสบาย แต่ก็ต้องใช้เวลาในการเดินทางพอสมควร ก่อนหน้านี้รถนำเที่ยวของคณะแสวงบุญชาวไทยที่ใช้เส้นทางนี้ก็จะวิ่งตรงสู่เมืองราชคฤห์เลย ด้วยระยะทางที่ต้องใช้เวลาพอสมควร ประกอบกับไม่มีปั๊มน้ำมันให้แวะเข้าห้องน้ำระหว่างทาง เกือบทุกคณะที่เดินทางไปกรุงราชคฤห์จึงต้องแวะเข้าห้องน้ำส่วนตัวข้างทางแบบอินเดีย แต่เดี๋ยวนี้มีวัดไทยสร้างใหม่บริเวณกึ่งกลางทางระหว่างพุทธคยาและกรุงราชคฤห์ ชื่อว่าวัดไทยลัฏฐิวันมหาวิหาร ทำให้นักเดินทางท่องเที่ยวและผู้เดินทางไปแสวงบุญไม่จำเป็นต้องเข้าห้องน้ำตามป่าข้างทางอีกแล้ว

วัดไทยลัฏฐิวันมหาวิหาร
คณะของเราแวะจุดพักรถที่วัดไทยลัฏฐิวันมหาวิหารในเวลาประมาณ 8.10 น. ของประเทศอินเดียซึ่งช้ากว่าเวลาบ้านเราประมาณ 1 ชั่วโมง ถึงแม้ว่าจะเป็นเวลาค่อนข้างสายแต่อากาศยังเย็นสบาย เห็นหมอกปกคลุมไปทั่วจนสามารถมองพระอาทิตย์ด้วยตาเปล่าได้อย่างสบายๆ ลงจากรถก็เห็นคนพื้นเมืองชาวอินเดียมานั่งตากแดดกันเป็นกลุ่มใหญ่ ก็ไม่แน่ใจว่าเขามาตากแดดเพื่อความอบอุ่นหรือเพื่อจุดประสงค์อื่น ไม่ได้เข้าไปทักทายเพราะว่าไกด์เคยเตือนไว้ว่า คนอินเดียที่ยากจนหน่อยจะทำตัวประมาณขอทาน ชอบเรียกคนไทยใจดีโดยเฉพาะผู้ชายที่ดูดีหน่อยว่า มหาราชา และเรียกผู้หญิงว่า มหารานี แล้วก็ขอเงิน เกิดคนใดคนหนึ่งในคณะใจดีให้ทานไปแล้วละก็ จะนำพิบัติภัยมาสู่หมู่คณะที่มาทัวร์ด้วยกันอย่างโกลาหลเลยทีเดียว เพราะคนอินเดียเหล่านั้นจะมาชักชวนกันมาอีกเยอะเพื่อรุมเร้าขอทานจากคณะของเรา  แต่ประสบการณ์จริง ก็ไม่ค่อยได้มีอะไรที่น่ากลัวขนาดนั้น มันก็มีช่องว่างที่เหมาะสมของมันอยู่ด้วยไม่ได้น่ากลัวอย่างที่ฟังเขาเล่ามา หรือว่าอาจจะยังเป็นเพราะผมไม่เคยเจอเหตุการณ์จริงๆ ก็เป็นได้

อาหารว่าง ที่มีไว้เลี้ยงรับรองนักเดินทางผู้มาแวะพักที่วัดไทยลัฏฐิวันมหาวิหาร 
หลังจากเข้าห้องน้ำทำธุระส่วนตัวกันแล้ว ที่วัดไทยลัฏฐิวันมหาวิหาร มีอาหารว่างบริการนักเดินทางฟรี วันนั้นมีทั้งกาแฟร้อน ชาร้อนและโรตีทอดกรอบร้อนๆ ชอบที่เสริฟด้วยจานใบไม้จำไม่ได้แล้วว่าใบอะไรแต่ก็ดูคลาสสิคดี ระหว่างนั่งดื่มกาแฟแกล้มโรตีทอด ท่ามกลางสายหมอกหนากับอากาศเย็นรู้สึกฟินมาก มีหลวงพี่ที่ดูอายุแล้วน่าจะเป็นหลวงเพื่อนหรืออาจจะแค่หลวงน้องก็เป็นได้มาบรรยายให้ฟังถึงความเป็นมาของวัดไทยลัฏฐิวันมหาวิหาร  ซึ่งคณะสงฆ์ไทยได้มาซื้อที่ดินและพัฒนาเป็นวัดไทยเพื่อจุดประสงค์หลักคือ บริการอาหารและจุดแวะพักโดยเฉพาะห้องสุขาแก่นักเดินทางแสวงบุญชาวไทยโดยเฉพาะ เพราะอย่างที่ทราบห้องน้ำสำหรับนักเดินทางในประเทศอินเดียไม่ได้สะดวกเหมือนเมืองไทย การมีวัดไทยมาอำนวยความสะดวกแบบนี้จึงเป็นเรื่องที่สร้างความสะดวกสบายให้นักเดินทางโดยเฉพาะคนไทยทั้งพระสงฆ์และสาธุชนทั้งหลายได้มากเลยทีเดียว

หลวงพี่ที่มานั่งบรรยายความเป็นมาของวัดไทยลัฏฐิวันมหาวิหาร 

ในวันเดือนปีที่คณะของเราไปถึงวัดไทยลัฏฐิวันมหาวิหาร ตรงกับวันที่ 8 มีนาคม 2563 ซึ่งขณะนั้นวัดยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นการก่อสร้าง หลายสิ่งหลายอย่างก็อยู่ระหว่างการดำเนินการ แต่เรื่องห้องน้ำที่ถือว่าเป็นหัวใจของบริการผู้เดินทางถือว่าทำได้ดีเยี่ยมทีเดียวทั้งสะอาดและดูดี ใครที่ผ่านมาจะมีอาหารว่างที่ทางวัด บริการให้ฟรีไม่คิดเงิน แต่ถ้าเรามีใจกุศลช่วยบริจาคตามกำลังศรัทธาเท่าที่สะดวกก็จะดีมาก(อันนี้ผมเขียนเอง ทางวัดไม่ได้บอก) เพราะจะได้เป็นทุนพัฒนาวัดให้ดียิ่งขึ้นและจะได้มีทุนจัดหาอาหารว่างไว้ต้อนรับคณะอื่นที่จะมาทีหลังเป็นการสร้างบุญและทานบารมีให้ตัวเราไปด้วย 

ส่วนคณะเดินทางใดที่คาดว่าจะมาถึงวัดไทยลัฏฐิวันมหาวิหาร ในช่วงเวลาตรงกับมื้ออาหารหลัก ก็สามารถติดต่อสั่งอาหารกับทางวัดล่วงหน้าได้ด้วย ทางวัดมีผู้มีจิตศรัทธาเป็นคณะแม่ครัวคนไทยที่ไปคอยช่วยทำอาหารและอำนวยความสะดวกให้เป็นอย่างดีทีเดียว

ติดต่อสั่งจองอาหารที่ วัดไทยลัฏฐิวันมหาวิหาร 

หลังจากที่เราทานอาหารว่างร้อนๆ ท่ามกลางอากาศเย็นๆ ก็ช่วยกันสมทบทุนทำบุญให้วัดไทยลัฏฐิวันด้วยกัน แล้วชวนกันถ่ายรูปเก็บบรรยากาศความประทับใจและเตรียมตัวเดินทางกันต่อ  เมื่อคณะของเราขึ้นรถกันครบเรียบร้อยไกด์ไทยของเราก็เล่าความเป็นมาของ ลัฏฐิวัน ในสมัยพุทธกาลเพิ่มเติมจากที่หลวงพี่ได้เล่าไว้ ทำให้เราได้เข้าใจเหตุการณ์สำคัญในอดีตดียิ่งขึ้น ซึ่งขอสรุปใจความโดยย่อเพื่อจะได้ทราบไปด้วยกัน ดังนี้

จุดบริการอาหารว่าง วัดไทยลัฏฐิวันมหาวิหาร 

ลัฏฐิวัน  แปลตามตัวว่าสวนตาลหรือป่าตาล ที่เกี่ยวข้องกับพุทธประวัติอยู่ในเขตของแคว้นมคธ เป็นสถานที่สำคัญเพราะเป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมโปรดชาวแคว้นมคธเป็นครั้งแรก มีเรื่องราวเกี่ยวเนื่องในหนหลังครั้งที่เจ้าชายสิทธัตถะซึ่งได้ออกบวชและยังแสวงหาทางตรัสรู้อยู่นั้นได้เดินทางผ่านมาในแคว้นมคธ ทรงพบกับพระเจ้าพิมพิสาร พระเจ้าพิมพิสารทรงทราบว่านักบวชสิทธัตถะมีเชื้อสายกษัตริย์ จึงได้ทูลเชิญให้ลาจากเพศบรรพชิตมาครองราชสมบัติด้วยกัน พระองค์จะทรงแบ่งราชสมบัติให้กึ่งหนึ่งเพื่อให้ปกครอง แต่พระโพธิสัตว์ทรงปฏิเสธเพราะต้องการแสวงหาหนทางแห่งการพ้นทุกข์

ผู้เขียนกับอาหารว่างที่ วัดไทยลัฏฐิวันมหาวิหาร

เมื่อถูกปฏิเสธจากพระสมณโคดมหรือเจ้าชายสิทธัตถะ และทราบถึงความตั้งใจที่แน่วแน่ของมหาบุรุษในการหาหนทางแห่งการพ้นทุกข์ ทำให้พระเจ้าพิมพิสารทรงเลื่อมใสเป็นอันมาก และทูลขอไว้ว่า หากได้ตรัสรู้ธรรมนั้นแล้ว ขอให้กลับมาโปรดให้พระองค์ได้ทราบด้วย  

หลังจากที่พระโพธิสัตว์ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และได้เสด็จไปโปรดปัญจวัคคีย์ และยสกุลบุตรที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน (เขียนไว้แล้วในบทความก่อนหน้านี้) ได้ทรงส่งพระสาวก 60 รูป  คือ พระปัญจวัคคีย์ 5 รูป และพระยสกับสหายอีก 55 รูป ออกไปประกาศพระศาสนา พระพุทธองค์ก็ได้เสด็จไปยังบริเวณคยาสีสะประเทศเพื่อโปรดชฏฺิลสามพี่น้อง คือ พระอุรุเวลกัสสปะ พระคยากัสสปะ พระนทีกัสสปะ และบริวารอีก 1,000 รูป  หลังจากโปรดให้พระอดีตชิฏลสามพี่น้องและบริวารได้บรรลุอรหันต์แล้ว ทรงระลึกถึงคำสัญญาที่ทรงให้ไว้กับพระเจ้าพิมพิสาร จึงได้เสด็จไปแคว้นมคธพร้อมกับพระสาวกของอดีตชฏิล 3 พี่น้องรวม 1,003 รูป แต่เมื่อถึงบริเวณชานเมืองแคว้นมคธที่เป็นป่าตาลหรือที่เรียกว่า ลัฏฐิวัน  พระองค์และคณะสงฆ์ที่ติดตามได้แวะพักอยู่ที่นั่น ไม่ได้เดินทางเข้าสู่กรุงราชคฤห์ของพระเจ้าพิมพิสารโดยทันที

โรตีกรอบ และชาร้อน อาหารว่างที่วัดไทยลัฏฐิวันของผู้เขียนที่ชอบกินชาร้อนแบบไม่ใส่นม

เมื่อพระเจ้าพิมพิสารทรงทราบว่าพระพุทธเจ้าเสด็จมาโปรด จึงรีบเสด็จไปยังลัฏฐิวันพร้อมกับประชาชนจำนวนมากตามเสด็จด้วย โดยที่คนส่วนใหญ่ที่ติดตามพระเจ้าพิมพิสารไปด้วยล้วนไม่ได้ศรัทธาในพระบรมศาสดาแต่ก็เกรงพระทัยจึงตามเสด็จไปด้วย  แต่ก็มีไม่น้อยที่คนผู้ติดตามเหล่านั้นเคยเป็นศิษย์และศรัทธาในเหล่าพระอดีตชฏิล 3 พี่น้อง 

เมื่อคณะผู้ติดตามพระเจ้าพิมพิสารเห็นเหล่าอดีตชฏิล 3 พี่น้องบวชเป็นพระสงฆ์อยู่กับพระพุทธเจ้าก็เกิดความสงสัยว่าใครเป็นอาจารย์ใครเป็นศิษย์กันแน่  พระพุทธเจ้าทรงทราบถึงความคิดของฝูงชนเหล่านั้น จึงได้ให้พระอุรุเวลกัสสปะซึ่งเป็นพี่หญ่ของพระชฏิล 3 พี่น้องตอบให้ผู้คนทั้งหลายได้คลายความสงสัย พระอุรุเวลกัสสปะเถระ จึงได้เปล่งวาจาสดุดีพระบรมศาสดาประกาศว่า พระพุทธเจ้าทรงเป็นศาสดาของเรา เราเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า ทำให้มหาชนเหล่านั้นหายสงสัยและตั้งใจฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดา โดยทรงแสดงพระธรรมเทศนา ตรัสอนุบุพพีกถาเป็นเบื้องต้น และทรงแสดงอริยสัจ 4 ในบั้นปลาย ในท้ายพระธรรมเทศนา พระเจ้าพิมพิสารได้บรรลุโสดาปัตติผล  ส่วนชาวแคว้นมคธทั้งหมดประมาณ 12 นหุต (1 นหุต เท่ากับ 3 หมื่น) บางพวกก็บรรลุโสดาบัน บางพวกถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ เป็นอุบาสก อุบาสิกาเท่ากับว่า พระพุทธศาสนาได้มาลงรากปักฐานมั่นคงในกรุงราชคฤห์ แคว้นมคธแล้วในคราครั้งนั้นเอง

ต่อมาพระเจ้าพิมพิสารทรงดำริว่าลัฏฐิวันอยู่ไกลชุมชน เป็นเขตชานเมือง พระสงฆ์และพระพุทธเจ้าจักลำบากเรื่องอาหาร ภายหลังจึงทูลถวายเวฬุวัน ซึ่งเป็นป่าไผ่ในเมืองราชคฤห์ให้เป็นสังฆาราม และได้กลายเป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนาในเวลาต่อมา


ติดตามอ่านบทความทั้งหมดใน ประสบการณ์เดินทางไปแสวงบุญ 4 สังเวชนียสถาน 8 วัน ในประเทศอินเดียและเนปาล ได้ที่ www.rkatour.com

สนใจเดินทางไปทัวร์แสวงบุญ 4 สังเวชนียสถาน สักการะสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของพระพุทธศาสนา สถานที่ประสูติ ตรัสรู้ ปฐมเทศนา และปรินิพพาน รวมถึงสถานที่สำคัญอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งพุทธกาล สอบถามรายละเอียดการเดินทางได้ที่ โทร. 084-625-9929 

เขียนโดย ศักดิ์เพ็ชร เรืองแพ

ไม่มีความคิดเห็น: