วันพฤหัสบดีที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2564

ถึงยอดเขาคิชฌกูฏ ประเทศอินเดีย

เขาคิชฌกูฏ รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย
จากตอนที่แล้ว เราเล่าค้างถึงการเดินทางมาถึงครึ่งทางของการเดินสู่ยอดเขาคิชฌกูฏ ซึ่งอยู่ที่รัฐพิหารประเทศอินเดีย ระหว่างทางไกด์ก็บรรยายเรื่องราวในสมัยพุทธกาลที่น่ารู้และเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่เรากำลังเดินทางขึ้นไปมากมาย ประกอบกับเราอยู่ในพื้นที่จริง สถานที่ที่เหตุการณ์เหล่านั้นเคยเกิดขึ้นจริง ทำให้แทบจะหลับตาเห็นภาพได้ถึงเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้น

จุดนัดพบรวมพล ก่อนเข้าไปในเขตมูลคันธกุฎี
ในที่สุดคณะของเราทั้ง 9 คนก็เดินขึ้นมาถึงยอดเขา มาเจอกับผู้ร่วมคณะอีก 1 ท่านที่ขึ้นมาด้วยบริการลูกหาบชาวอินเดีย ที่จุดนี้เป็นจุดพักคอยสังเกตเห็นมีการประดับธงและการวางก้อนหินเรียงซ้อนกันเป็นชั้นๆ ตามปรัชญาของเซน ที่เปรียบให้เห็นถึงความสมดุลของศีลสมาธิเเละปัญญา โดยหินจะตั้งมั่นอยู่ไม่ได้เลยหากขาดหลักธรรมไตรสิกข้อนี้เช่นเดียวกับการปฏิบัติธรรม และยังมีความเชื่อเกี่ยวกับการเรียงหินรูปเจดีย์เพื่อไถ่บาปด้วย
ตำแหน่งที่พระเทวทัตกลิ้งหินใส่พระพุทธเจ้าจนทรงห้อพระโลหิต
จุดที่พระเทวทัตตั้งใจทำร้ายพระพุทธเจ้า ถัดจากจุดที่ประดับธงเลยไปเล็กน้อย ก็จะพบกับตำแหน่งพื้นที่ที่พระเทวทัตกลิ้งหินใส่พระพุทธเจ้าจนทรงห้อพระโลหิต และหมอชีวกโกมารภัจจ์ได้เป็นผู้เข้าเฝ้ารักษาพระอาการ จุดนี้ดร.นพดลได้เล่าเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นอย่างละเอียดพอสมควร 
ถ้ำพระสารีบุตร
ถ้ำพระสารีบุตร เดินไปจากจุดที่พระเทวทัตกลิ้งหินไปเล็กน้อยก็จะเจอถ้ำพระสารีบุตร ซึ่งเป็นถ้ำที่พระสารีบุตรเคยจำพรรษาอยู่  พระสารีบุตรได้รับการยกย่องเป็นอัครสาวกเบื้องขวาของพระพุทธเจ้า และยังได้รับการยกย่องจากพระพุทธองค์ว่าเป็นเลิศกว่าพระภิกษุทั้งปวงในด้านสติปัญญา  มีคุณธรรมในด้านความกตัญญู และการบำเพ็ญประโยชน์ให้แก่พุทธศาสนามากมาย จึงมีคำยกย่องพระสารีบุตรว่าเป็น "ธรรมเสนาบดี" (แม่ทัพธรรม) คู่กับพระพุทธเจ้าที่เป็น "ธรรมราชา" คนที่เดินทางไปสักการะถ้ำพระสารีบุตรจึงมักนิยมอธิษฐานขอให้มีปัญญา 
ถ้ำพระโมคคัลลานะ
ถ้ำพระโมคคัลลานะ เดินจากถ้ำพระสารีบุตรไปอีกนิดหน่อยไม่ไกลกัน ก็จะเจอถ้ำพระโมคคัลลาหรือพระมหาโมคคัลลานเถระ  ผู้ได้รับการยกย่องเป็นพระภิกษุอัครสาวกเบื้องซ้ายของพระพุทธเจ้า เป็นพระอสีติมหาสาวกผู้เป็นเอตทัคคะในด้านผู้มีฤทธิ์มาก เป็นเพื่อนสนิทออกบวชมาพร้อมกันกับพระสารีบุตร  ด้วยที่ท่านมีฤทธิ์อภินิหารมากคนที่ไปสักการะถ้ำที่พักของพระโมคคัลลานะจึงนิยมอธิษฐานขอให้มีสุขภาพแข็งแรง
ถ้ำพระมหากัสสปะ 
ถ้ำพระมหากัสสปะ   อยู่ถัดไปจากถ้ำพระโมคคัลลานะอีกเพียงเล็กน้อย พระมหากัสสปะเป็นพระอรหันต์สาวกสำคัญอีกองค์หนึ่งของพระพุทธเจ้า เป็นเอตทัคคะที่ทรงยกย่องและให้ถือเป็นแบบอย่างในด้านผู้ทรงธุดงค์และสรรเสริญคุณแห่งธุดงค์ ภายหลังที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน ท่านได้เป็นประธานในการสังคายนาครั้งที่1 ของศาสนาพุทธ โดยเกิดจากหลังพระพุทธเจ้าปรินิพพานเพียง 7 วัน ก็มีผู้คิดที่จะประพฤติปฏิบัติให้วิปริตไปจากพระธรรมวินัย  จึงชักชวนพระอรหันต์เถระทั้งหลาย ซึ่งล้วนทันเห็นพระพุทธเจ้า เป็นผู้ที่ได้ฟังคำสอนของพระองค์มาโดยตรง เป็นผู้รู้คำสอนของพระพุทธเจ้าให้มาประชุมกันเพื่อช่วยกันรวบรวมและประมวลคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ในการทำสังคยาครั้งนั้นใช้เวลานานถึง 7 เดือนโดยมีพระเจ้าอชาตศัตรูเป็นผู้อุปถัมภ์

กุฏิของพระอานนท์
กุฏิพระอานนท์  กุฏิพระอานนท์ จะเป็นปราการสุดท้ายก่อนถึงที่ประทับของพระพุทธเจ้า พระอานนท์ เป็นพระอรหันต์สาวกของพระพุทธเจ้าที่ทรงยกย่องว่าท่านเป็นเอตทัคคะผู้เลิศกว่าพระภิกษุสาวกทั้งหลาย 500 ประการ คือ เป็นพหูสูต มีสติ มีคติ มีธิติ และเป็นพุทธอุปัฏฐาก  ในสมัยพุทธกาลผู้ที่จะเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าต้องแจ้งพระอานนท์ก่อนเพื่อให้พระอานนท์ไปทูลขออนุญาตจากพระพุทธเจ้า เป็นประเพณีที่ปฏิบัติในขณะนั้น  ด็อกเตอร์นพดลหัวหน้าคณะและไกด์นำเที่ยวอินเดียครั้งนี้ของเราจึงได้พาคณะไปกราบขออนุญาตที่กุฏิพระอานนท์ก่อนไปสักการะพระมูลคันธกุฎีที่ประทับของพระพุทธเจ้า 
พระมูลคันธกุฎี
พระมูลคันธกุฎี เป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้า อยู่บนตำแหน่งสูงสุดของยอดเขาคิชฌกูฏ เป็นที่ที่พระพุทธองค์เสด็จมาประทับอยู่นานและหลายครั้ง ถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดบนเขาคิชฌกูฏ ในสมัยพุทธกาลที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ที่แห่งนี้ จะมีประชาชนจำนวนมากนำเครื่องหอมมากมายมาบูชาทุกๆ วัน จนกลิ่นหอมฟุ้งกระจายไปทั่ว ปัจจุบันก็มีพุทธบริษัททั้ง ภิกษุ นักบวช และผู้คนเดินทางหลั่งไหลกันมามากมายจากทั่วสารทิศของโลกเพื่อให้ได้มาสวดมนต์ กล่าวคำบูชา และเดินทักษิณา และบ้างก็นั่งสวดมนต์ภาวนาและทำสมาธิ รอบๆ พระมูลคันธกุฎี เพื่อเป็นการสักการะบูชาถวายแก่พระพุทธเจ้า
พระมูลคันธกุฎี กุฏิที่ประทับของพระพุทธเจ้าในสมัยพุทธกาล
ณ ขณะเวลาที่เราอยู่ที่บนยอดเขาคิชฌกูฏ แม้นจะใช้เวลาน้อยมากเพียง 2-3 ชั่วโมงเท่านั้น  แต่ด้วยบรรยากาศสิ่งแวดล้อมของสถานที่ ประกอบกับความรู้เรื่องพุทธประวัติที่ไกด์บรรยายมาอย่างพรั่งพรูประหนึ่งทำให้เราเข้าไปอยู่ในช่วงเวลา ณ ขณะนั้นด้วย ทำให้รู้ซึ้งซาบซึ้งอย่างยากจะพรรณาออกมาได้เป็นภาษาเขียนสั้นๆ ให้ได้รับรู้ถึงอารมณ์ร่วมในเวลาที่เราอยู่บนนั้น รู้แต่ว่าทั้งปิติใจ อิ่มเอิบทั้งกายและใจที่ครั้งนี้เราไม่เสียทีที่ได้เกิดมาในร่มเงาพระพุทธศาสนา มาถึงแล้ว ณ ที่ซึ่งครั้งหนึ่งศาสดาของเราเคยประทับและสั่งสอนธรรมอันสร้างความสงบร่มเย็นให้แก่โลกด้วยพระเมตตาอย่างหาที่เปรียบไม่ได้
สักการะพระมูลคันธกุฎี กุฏิที่ประทับของพระพุทธเจ้าบนเขาคิชฌกูฏ อินเดีย
สำหรับคนที่คิดจะไปสักการะพระมูลคันธกุฎีบนบนยอดเขาคิชฌกูฏ ณ กรุงราชคฤห์ ประเทศอินเดีย ขอบอกเลยว่าไม่ต้องกังวลเรื่องการเดินขึ้นไป ไม่ได้ยากหรือเหนื่อยอย่างที่คิด แต่หากคิดว่าเดินไม่ไหวก็ใช้บริการของลูกหาบชาวอินเดียได้ บนยอดเขาแม้นจะมีแดดแรงบ้าง แต่อาจจะเป็นเพราะสายลมเย็นบนยอดเขาทำให้เราไม่รู้สึกว่าร้อนเลย กลับรู้สึกถึงความเย็นและสงบของพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่คงมีเฉพาะผุ้ที่ไปถึงแล้วเท่านั้นจึงจะพอบรรยายบรรยากาศและอารมณ์ที่รับรู้ได้
ยอดเขาคิชฌกูฏ ประเทศอินเดีย
ในที่สุดก็สมควรแก่เวลา คณะของเราก็ต้องเดินกลับลงมาจากจากยอดเขาคิชฌกูฏ เพื่อเดินทางไปมหาวิทยาลัยนาลันทาโดยจะแวะทานอาหารเที่ยงที่วัดไทยนาลันทาก่อน จะมาเขียนให้ได้ติดตามอ่านในเรื่องเล่าตอนต่อไป คอยติดตามนะครับ 

ติดตามอ่านบทความทั้งหมดใน ประสบการณ์เดินทางไปแสวงบุญ 4 สังเวชนียสถาน 8 วัน ในประเทศอินเดียและเนปาล ได้ที่ www..rkatour.com

สนใจเดินทางไปทัวร์แสวงบุญ 4 สังเวชนียสถาน สักการะสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของพระพุทธศาสนา สถานที่ประสูติ ตรัสรู้ ปฐมเทศนา และปรินิพพาน รวมถึงสถานที่สำคัญอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งพุทธกาล สอบถามรายละเอียดการเดินทางได้ที่ โทร. 084-625-9929 

เขียนโดย ศักดิ์เพ็ชร  เรืองแพ
www..rkatour.com

ไม่มีความคิดเห็น: