วันพุธที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2564

พุทธคยา สถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า

พุทธคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย

พุทธคยา หรือคนท้องถิ่นเรียก โพธคยา
 ในสมัยพุทธกาลอยู่ในเขตหมู่บ้านอุรุเวลา แคว้นมคธ ปัจจุบันคืออำเภอคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย เป็นสถานที่ตรัสรู้ของพุทธเจ้า เป็นหนึ่งในสี่ของพื้นที่สำคัญและศักดิ์สิทธิ์ที่สุดทางพุทธศาสนา   และได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกจากองค์การยูเนสโกเมื่อปี พ.ศ. 2545

คณะแสวงบุญของเราในวันเดินทางเข้าไปในพุทธคยา

จากที่เล่ามาในบทความที่เขียนก่อนหน้านี้  วันนี้ยังเป็นวันที่ 2 ของทริปทัวร์แสวงบุญ 4 สังเวชนียสถาน ในประเทศอินเดียและประเทศนปาลของคณะเราที่มากันทั้งหมด 10 ท่าน วันนี้ที่เดินทางตรงกับวันที่ 7 มีนาคม 2563 หลังจากออกเดินทางมาจากสารนาถตั้งแต่เช้าตรู่ เดินทางมาร่วม 250 กิโลเมตร ใช้เวลาบนรถนานประมาณ 6 ชั่วโมง ถนนหนทางถือว่าสะดวกสบายมาก โดยก่อนที่จะเข้ามาในเขตพุทธคยาซึ่งห่างจากแม่น้ำเนรัญชราประมาณ 350 เมตร เราก็ได้แวะชมบ้านของนางสุชาดามหาอุบาสิกาผู้ถวายข้าวมธุปายาสและบ้านของโสตถิยพราหมณ์ผู้ที่ถวายหญ้ากุศะแก่พระพุทธเจ้า และพระองค์ได้นำมาปูรองประทับ ณ โคนไม้ใต้ต้นโพธิ์ในวันที่ตรัสรู้ และวันนี้ที่เราจะเข้าไปในเขตพื้นที่พุทธคยาซึ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และสำคัญที่สุดของพุทธศาสนา เราจึงพร้อมใจกันแต่งชุดขาวเพื่อแสดงเคารพสถานที่ และเป็นการสำรวมทั้งกายวาจาและใจ 

ค่าธรรมเนียมใช้กล้องถ่ายรูปใน พุทธคยา

การเข้าไปภายในเขตเจดีย์พุทธคยา ทางเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้นำโทรศัพท์มือถือเข้าไปข้างในโดยเด็ดขาดต้องฝากไว้ที่จุดรับฝากข้างนอก ไกด์บอกว่าเป็นมาตรการความปลอดภัยเรื่องการก่อการร้ายที่อาจใช้สัญญาณโทรศัพท์จุดระเบิด ดังนั้นเราจะไม่สามารถใช้กล้องถ่ายรูปจากมือถือบันทึกภาพภายในพุทธคยาได้ แต่ทางเจ้าหน้าที่ก็อนุญาตให้เราสามารถบันทึกภาพได้แต่ต้องใช้กล้องถ่ายรูปเท่านั้น โดยมีค่าธรรมเนียมการนำกล้องถ่ายรูปเข้าไป 100 รูปี โดยถ้าคิดเป็นเงินไทยก็จะอยู่ที่ประมาณ 45-50 บาทเท่านั้น ถือเป็นมาตรการรักษาความปลอดภัยของสถานที่ ที่ผู้เข้าไปในเขตภายในของพุทธคยาต้องช่วยกันให้ความร่วมมือ  เมื่อเราเดินเข้าไปถึงประตูทางเข้าจะมีด่านตรวจความปลอดภัยผ่านเครื่องสแกนและมีเจ้าหน้าที่คอยตรวจอย่างเคร่งครัดอีกชั้นหนึ่งก่อนที่เราจะเข้าไปได้ถึงชั้นในของพุทธคยา

ทางเข้าสู่เขตชั้นในของพุทธคยา

ทันทีที่เราเข้าสู่ชั้นในของเจดีย์พุทธคยา  จะเห็นผู้คนมากมายจากหลากหลายประเทศทั้งที่นับถือพระพุทธศาสนาและไม่ใช่ แต่ทุกคนสังเกตได้ว่าเข้ามาในพุทธคยาด้วยความเคารพเลื่อมใส ต่างนิ่งสงบ ทั้งที่มีคนเรือนพันเรือนหมื่น แต่หามีเสียงพูดคุยจอแจไม่ มีแต่เสียงพร่ำสวดมนต์ที่มีหลากหลายสำเนียงทั้งพุทธมหายานบ้าง พุทธหินยานบ้าง ดูจากรูปแบบการแต่งกายของพระสงฆ์ที่หลากหลายรูปแบบ ก็เดาได้ไม่ยากว่าเป็นพุทธนิกายไหนกันบ้าง แต่ไม่ว่าจะเป็นพุทธศาสนิกชนนิกายอะไรก็ตามเมื่อเข้ามาในเขตเจดีย์พุทธคยากลับดูกลมกลืนไปด้วยกันเหมือนกลับสู่จุดกำเนิดเดียวกันทั้งสิ้น และคณะเราทุกคนและเชื่อว่าคงเกือบทุกคนที่เข้ามาในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้จะรับรู้ได้ถึงพลังงานศักดิ์สิทธิ์บางอย่างที่สงบและเย็นอย่างอธิบายได้ยาก นอกจากจะต้องไปสัมผัสเองด้วยสัมผัสทั้ง 5 

การแต่งกายของนักบวชหรือสงฆ์ของนิกายอื่นๆ ที่เราไม่คุ้นตา

เมื่อเข้าไปในเขตชั้นในของเจดีย์พุทธคยา มีสิ่งสำคัญที่เราควรเข้าไปสักการะ ได้แก่

เจดีย์พุทธคยา

เจดีย์พุทธคยาหรือพระมหาโพธิ์เจดีย์ คืออนุสรณ์สถานแห่งการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มีลักษณะเป็นเจดีย์สี่เหลี่ยมทรงสูง เป็นสถาปัตยกรรมและศิลปะแบบอินเดีย สูงประมาณ 170 ฟุต แบ่งออกเป็น 2 ชั้น ชั้นแรกประดิษฐานพระพุทธเมตตา  ส่วนชั้นที่ 2 ประดิษฐานพระพุทธปฏิมาปางประทานพร บริเวณโดยรอบเจดีย์มีเจดีย์บริวารล้อมอยู่ทั้ง 4 ทิศ  เจดีย์พุทธคยาถือเป็นแลนด์มาร์คของกลุ่มพุทธสถานพุทธคยา มีความเป็นมาคือหลังจากพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้แล้ว พระองค์ทรงดำเนินไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือต้นโพธิ์ ทรงยืนพิจารณาทอดพระเนตรต้นพระศรีมหาโพธิ์  ตลอด 7 วัน ทรงหวลระลึกถึงอดีตที่ทรงชำระกิเลสหมดสิ้นผ่องใส ที่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ที่ประทับยืนนั้นเรียกว่า อนิมิสเจดีย์

พระพุทธเมตตา

พระพุทธเมตตา เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยศิลปะปาละ มีความงดงามมาก เป็นพระพุทธรูปใหญ่หนึ่งเดียวในเจดีย์ที่ไม่ถูกทำลายจากกษัตริย์ชาวฮินดูในสมัยที่มีการกวาดล้างพระพุทธศาสนาในอินเดีย

ต้นพระศรีมหาโพธิ์

ต้นพระศรีมหาโพธิ์  คือต้นโพธิ์ที่พระพุทธเจ้าประทับในช่วงเวลาตรัสรู้ ต้นพระศรีมหาโพธิ์ต้นปัจจุบันเป็นต้นที่ 4 ที่ปลูกในตำแหน่งเดิม โดยมีลำดับดังนี้
  • ต้นแรกคือต้นที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ ได้ตายลงในสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช
  • ต้นที่สองคือต้นที่แตกหน่อออกมาจากต้นแรกและได้ถูกทำลายลงในสมัยพระเจ้าสาสังการ กษัตริย์ฮินดู
  • ต้นที่สามคือต้นที่แตกหน่อออกมาจากต้นแรกและได้ตายลงเพราะขาดการบำรุงดูแล เนื่องจากเป็นช่วงพระพุทธศาสนาในประเทศอินเดียเสื่อมโทรม
  • ต้นที่ 4 คือต้นศรีมหาโพธิ์ต้นปัจจุบันที่แตกหน่อมาจากต้นที่ 3 ได้รับการบำรุงดูแลหน่อโดยเซอร์คันนิงแฮม หัวหน้าคณะสำรวจพุทธศาสนสถานในช่วงที่อินเดียเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ปัจจุบันมีอายุ 140 ปี

พระแท่นวัชรอาสน์

พระแท่นวัชรอาสน์  หรือนิยมเรียกว่าโพธิ์บัลลังก์ 
อยู่ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ เป็นสถานที่ประทับในคืนตรัสรู้ ซึ่งพระพุทธองค์องค์ทรงลาดหญ้ากุศะเป็นบัลลังก์ประทับนั่ง และพระองค์ได้ทรงอธิษฐาน ณ อาสนะนี้ ความว่า “หากแม้นเลือดและเนื้อจะเหือดจะแห้งอย่างไร ถ้าไม่บรรลุพระอรหันตสัมมาสัมโพธิญาณแล้วจักไม่เสด็จลุกขึ้นจากอาสนะนี้” อาสนะนี้จึงได้ชื่อว่า วัชระอาสน์ ซึ่งวัชระ แปลว่า เพชร, อาสนะ แปลว่า ที่นั่ง ดังนั้น วัชระอาสน์ มีความหมายว่า “พระที่นั่งแห่งมหาบุรุษใจเพชร”  ต่อมาพระเจ้าอโศกมหาราชทรงสร้างพระแท่นขึ้นมาเพื่อบูชาสถานที่บำเพ็ญเพียรของพระพุทธเจ้า ตัวแท่นทำจากทองมีความยาว 7 ฟุต สลักเป็นรูปเพชร พญาหงส์ และดอกมณฑารพสลับกัน รอบๆ ต้นพระศรีมหาโพธิ์และบริเวณพระแท่นวัชรอาสน์ จะพบพระภิกษุ นักบวชและพุทธศาสนิกชนจำนวนมาก ไปทำการสักการะ สวดมนต์ และนั่งทำสมาธิ ด้วยกัน

รัตนจงกรมเจดีย์
รัตนจงกรมเจดีย์ เมื่อครั้นพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้แล้วได้เสด็จไปบริเวณทิศเหนือของพระศรีมหาโพธิ์ ทรงนิรมิตที่จงกรม ระหว่างโพธิบัลลังก์ กับที่ประทับยืนที่อนิมิสเจดีย์ ทรงเสด็จจงกรมจากทิศตะวันออกจรดทิศตะวันตก เรียกว่า รัตนจงกรมเจดีย์ ปัจจุบัน รัตนจงกรมเจดีย์ อยู่ข้างพระมหาเจดีย์ ด้านทิศเหนือ มีหินทรายสลักเป็นดอกบัวบาน จำนวน 19 ดอก มีแท่นหิน ทรายแดงยาวประมาณ 6 เมตร

นอกจากนี้ยังมีสถานที่ที่น่าสนใจอื่นๆ ใกล้เคียงและเกี่ยวข้องกับพระพุทธองค์ในช่วงเวลานั้นอีก เช่น

คณะที่เดินทางไปด้วยกัน ถ่ายรุปเป็นที่ระลึกบริเวณพระแท่นวัชรอาสน์

รัตนฆรเจดีย์
หลังจากตรัสรู้แล้วพระพุทธองค์เสด็จไปประทับ ณ ทิศตะวันตกเฉียงเหนือของต้นพระศรีมหาโพธิ์ ทรงประทับในเรือนแก้ว (รัตนฆร) ที่เทวดา นิรมิตถวาย ทรงประทับภายในเรือนแก้วนั้นตลอด 7 วัน ทรงพิจารณาพระอภิธรรม เมื่อทรงพิจารณาถึงมหาปัฏฐาน ปรากฏมี พระฉัพพรรณรังสีแผ่ออกมาจากพระวรกาย ปัจจุบันสถานที่ที่เป็นรัตนฆรเจดีย์นั้น มีอนุสรณสถานเป็นรูปวิหารทรงสี่เหลี่ม ไม่มีหลังคามุง กว้างประมาณ 11 ฟุต ยาวประมาณ 14 ฟุต รอบข้างเต็มไปด้วยเจดีย์โบราณ มีพระพุทธรูปสมัยคุปตะและสมัยปาละ พิจารณาแลัวเห็นน่าจะมีผู้นำ มาตั้งไว้ในสมัยหลัง  

คณะผู้ร่วมเดินทางไปแสวงบุญที่พุทธคยาในครั้งนี้

อชปาลนิโครธ อยู่ทางด้านทิศตะวันออกของต้นพระศรีมหาโพธิ์ อชปาลนิโครธ แปลว่า ต้นไทรอันเป็นที่รักษาแพะ  หมายถึง ต้นไทรนี้  มีเด็กเลี้ยงแพะพาแพะมาหาละแวกนี้อยู่เสมอ พระพุทธเจ้าขณะที่ยังเป็นพระโพธิสัตว์ยังไม่ตรัสรู้ ได้เสด็จมารับข้าวมธุปายาส จากนางสุชาดา ณ ที่แห่งนี้ 

ผู้เขียน ถ่าย ณ รัตนจงกรมเจดีย์

สระมุจลินทร์ 
ตามประวัติพระพุทธองค์ได้เสด็จไปที่ใต้ต้นมุจลินทร์ ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ห่างจากแม่น้ำเนรัญชรา ครึ่งกิโลเมตร ห่างจากต้นพระศรีมหาโพธิ์ ราวๆ ๒ กิโลเมตร ทรงประทับนั่งที่นั่นตลอด ๗ วัน ๗ คืน ขณะนั้นเกิดฝนตกใหญ่ พญานาค นามว่า มุจลินทร์ ปรารถนาจะกำบังฝนให้พระพุทธองค์ จึงขนดตนเองวนรอบพระวรกาย และแผ่พังพานบังลมฝน ตลอด ๗ วัน เมื่อครบ ๗ วัน ลมฝนสงบแล้ว ได้คลายตัวออก และแปลงเพศเป็นมานพหนุ่ม ถวายบังคม ณ เบื้องพระพักตร์ บริเวณที่พระพุทธองค์ประทับอยู่ใต้ต้นมุจลินทร์ ปัจจุบันเป็นสระบัวขนาดใหญ่ ชาวบ้านเรียกว่า มุจลินทร์โบกขรี (สระบัวมุจลินทร์) มีพระพุทธรูปปางนาคปรกประดิษฐานอยู่กลางสระ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ให้สาธุชนได้น้อมรำลึกถึงเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้น

มหาเจดีย์พุทธคยา

วัดไทยพุทธคยา
คืนนี้เราจะพักกันที่วัดไทยมคธ ซึ่งสะดวกสบายมากทีเดียว แต่ก่อนจะเข้าที่พัก เราแวะไปวัดไทยพุทธคยากันก่อน ติดตามอ่านได้ในตอนหน้านะครับ

ติดตามอ่านบทความทั้งหมดใน ประสบการณ์เดินทางไปแสวงบุญ 4 สังเวชนียสถาน 8 วัน ในประเทศอินเดียและเนปาล ได้ที่ www.rkatour.com
สนใจเดินทางไปทัวร์แสวงบุญ 4 สังเวชนียสถาน สักการะสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของพระพุทธศาสนา สถานที่ประสูติ ตรัสรู้ ปฐมเทศนา และปรินิพพาน รวมถึงสถานที่สำคัญอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งพุทธกาล  สอบถามรายละเอียดการเดินทางได้ที่ โทร. 084-625-9929 

เขียนโดย ศักดิ์เพ็ชร  เรืองแพ

ไม่มีความคิดเห็น: