วันศุกร์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2563
ประวัติมวยไชยา
ประวัติความเป็นมาของมวยไชยา
ประวัติมวยไชยาเล่าเรื่องโดยครูสุรัติ เพชรพริ้ม ผู้เชี่ยวชาญเรื่องมวยไชยา เรื่องเล่าเหล่านี้มีหลักฐานอ้างอิงจากหนังสือเก่าและหนังสือราชการ มีที่มาที่ไปชัดเจน สามารถตรวจสอบย้อนหลังไปได้ถึงเดือนปีที่เกิดเหตุการณ์
มวยไชยาคือมวยไทยโบราณ มวยไชยามีเคล็ดมวยหลายอย่างที่แตกต่างจากวิชามวยสายอื่นๆ เคล็ดวิชามวยไชยาคือการ ป้อง ปัด ปิด เปิด (ทุ่ม ทับ จับ หัก กอด รัด ฟัด เหวี่ยง ) เดิมเป็นวิชาของขุนพลเอกในสมัยรัชกาลที่ 3 ของกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นวิชาทหารในการทำสงคราม ซึ่งในสมัยก่อนยังมีเรื่องการทำสงครามระหว่างไทยกับพม่า เนื่องจากจำนวนทหารไทยมีน้อยกว่ากำลังทหารของฝ่ายตรงข้ามมาก วิชามวยและอาวุธของไทยจึงต้องเน้นให้สามารถสู้กับจำนวนคนมากกว่าได้ โดยเฉพาะวิชาอาวุธที่ต้องเรียนถึงขั้นการสู้ 1:5 หรือ 1:10 ให้ได้ ไม่อย่างนั้นการจะชนะศัตรูที่มีจำนวนมากกว่าจะแทบเป็นไปไม่ได้เลย มวยไชยาก็เป็นวิชาต่อสู้ด้วยมือเปล่าที่ใช้ในการทำสงครามดังกล่าวด้วย
วิชามวยที่สืบทอดกันมาในปัจจุบันล้วนมีที่มาจากมวยโบราณ วิชามวยในปัจจุบันมีที่มาจากหลายสายเช่น มวยโคราช มวยลพบุรี มวยท่าเสา(ของพระยาพิชัย) มวยไชยา เป็นต้น การฝึกมวยไม่จำเป็นที่จะต้องเรียนเพื่อขึ้นไปต่อยบนเวทีเท่านั้น การฝึกมวยเป็นการฝึกสมาธิ ฝึกการทำงานประสานกันของกล้ามเนื้อ
มวยไชยามีต้นเรื่องที่มาดังนี้ มวยไชยาเป็นมวยไทยสายหนึ่ง เริ่มในยุคปลายสมัยรัชกาลที่ 3 ช่วงเปลี่ยนแผ่นดิน มีทหารชำนาญศึกระดับขุนพล 4 ท่านที่ออกจากราชการและได้บวชเป็นพระภิกษุเดินธุดงค์หนีภัยการเมืองมาทางภาคใต้ ทั้ง 4 ท่านล้วนเป็นสหายธรรม ได้เดินทางแสวงหาวัดร้างเพื่อจำพรรษา มี 3 ท่านเลือกจำพรรษาที่เมืองไชยาได้แก่ พ่อท่านวินัยธรอยู่ที่วัดหนองอูมหรือวัดศรีเวียงในปัจจุบัน พ่อท่านวัดเคียนอยู่ที่วัดเคียน และพ่อท่านมาอยู่ที่วัดทุ่งจับช้าง(ตำบลพุมเรียง) ส่วนอีก 1 ท่านเดินทางต่อ ไปจำพรรษาที่วัดเขาอ้อจังหวัดพัทลุง (สันนิษฐานว่าพ่อท่านวัดเขาอ้อ จะเป็นหัวหน้านายทหารชุดนี้)
พ่อท่านมา เป็นขุนศึกที่ชำนาญการต่อสู้ด้วยมือเปล่า พ่อท่านมาได้มาพัฒนาวัดร้างซึ่งขณะนั้นมีช้างป่าเกเรเข้ามาทำลายพืชผลของชาวบ้าน เมื่อท่านกำราบช้างป่าได้จึงเป็นที่มาของชื่อวัดทุ่งจับช้าง แล้วท่านก็ได้จำพรรษาและเป็นสมภารที่วัดแห่งนั้น ได้ถ่ายทอดวิชามวยให้ลูกศิษย์ลูกหาหลายคน โดยเฉพาะพระยาวิชิตภักดีศรีพิชัยสงครามเจ้าเมืองไชยา ( นายขำ ศรียาภัย : เจ้าเมืองไชยาคนสุดท้าย ) นายขำ ศรียาภัย คนทั่วไปจะรู้จักในนามพระยาวจีสัตยารักษ์ ซึ่งเป็นตำแหน่งของประธานในการถือน้ำพิพัฒย์สัตยาต่อหน้าพระที่นั่ง ขณะนั้นเมืองไชยาได้ชื่อว่าเป็นเมืองนักมวย ด้วยประชาชนทั่วไปนิยมฝึกมวยกันเป็นจำนวนมาก นายขำเป็นคนที่ชื่นชอบวิชามวยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงได้เป็นศิษย์เอกคนหนึ่งที่รับวิชามวยมาจากพ่อท่านมา เมื่อพ่อท่านมาได้มรณะภาพ พระยาวจีสัตยารักษ์ ก็ได้ถ่ายทอดวิชามวยที่ได้ร่ำเรียนมาจากพ่อท่านมาให้ลูกศิษย์ที่มาเรียนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะทหารในสังกัดซึ่งขณะเรียกว่ากองมวย ได้มีการตั้งกองมวยในสังกัดเจ้าเมืองไชยาขึ้นมาหลายกองเช่น กองมวยบ้านทุ่ง กองมวยพุมเรียง กองมวยบ้านเวียง และกองมวยปากท่อ กองมวยเปรียบเสมือนกองทหารที่ต้องมีการฝึกและเตรียมพร้อมอยู่เสมอเพื่อรับใช้ราชการ แต่ละกองมวยจะมีหัวหน้ากองรับผิดชอบนักมวยในสังกัด
ในขณะที่พระยาวจีสัตยารักษ์ ตั้งกองมวยขึ้นมา มีศิษย์เอกชื่อนายปลอง จำนงค์ทอง เป็นคนบ้านหัววัว เป็นนักมวยที่เก่งกาจมาก มีความรวดเร็ว ว่องไว นายปลอง จำนงค์ทอง ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าจากสมเด็จพระปิยะมหาราชรัชกาลที่ 5 ให้เป็น หมื่นมวยมีชื่อ เพราะได้เป็นผู้พิชิตมวยฝีมือดีลูกศิษย์พระเหมสมาหาร เจ้าเมืองโคราช โดยทำการต่อสู้กันในงานเมรุกรมขุนมรุพงษ์ศิริพัฒน์ ณ ท้องทุ่งสุเมรุด้านใกล้ๆ กับป้อมเผด็จดัสกร ก็โปรดเกล้าฯ ให้นักมวยฝีไม้ลายมือดีมาชกกัน ผู้ชนะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นที่ (ข้าราชการชั้นประทวน) โดยครั้งนั้นมีผู้ชนะได้รับพระราชทานยศ จำนวน 3 คนด้วยกันคือ
หมื่นมวยมีชื่อ (ปลอง จำนงค์ทอง) เป็นนักมวยจากไชยา
หมื่นมือแม่นหมัด (กลึง โตสะอาด) แห่งบ้านทะเลชุบศร จังหวัดลพบุรี
หมื่นชงัดเชิงชก (แดง ไทยประเสริฐ) แห่งเมืองโคราช หรือนครราชสีมา
ขณะที่มีการชกหน้าพระที่นั่งในครั้งนั้น นายปล่องทำท่าจะแพ้ คนคุมนักมวยคือคุณแม่ชื่น ศรียาภัยซึ่งเป็นลูกของพระยาวจีสัตยารักษ์ก็บอกให้ยอมแพ้ เนื่องจากนายปล่องถูกเตะจนขาแทบจะยืนไม่อยู่แล้ว แต่นายปล่องไม่ยอมขอสู้อีก จากการเจ็บจนต้องเดินลากขาขณะทำการชกและสู้จนชนะ จึงเกิดเป็นท่ามวยเสือลากหางซึ่งเป็นเอกลักษณ์ที่มีเฉพาะมวยไชยามาจนทุกวันนี้ และในการชกครั้งนั้นจึงเป็นที่มาของคำกล่าวชื่นชมมวยจาก 4 สายมวย ว่า “หมัดหนักโคราช ฉลาดลพบุรี ท่าดีไชยา ไวกว่าท่าเสา” แสดงให้เห็นถึงความโดดเด่นของมวยไทยจากสำนักหรือสายต่างๆ
ครั้งนั้นนักมวยทั้งสามท่าน ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้เป็นข้าราชการชั้นประทวน ไม่ต้องเสียส่วยสาอากร แม้กระทั่งทำความผิดก็ให้กรมการบ้านเมืองพิจารณาลดหย่อนผ่อนโทษตามสมควร นับเป็นความภูมิใจของคนทั้งเมืองไชยาและลูกหลานของตระกูล จำนงค์ทอง ที่นายปลอง จำนงค์ทอง ได้เป็นตัวแทนของคนไชยาและได้นำเกียรติประวัติอันสูงส่งมาสู่เมืองไชยา
สนใจเรียนมวยไชยา ทั้งเพื่อการออกกำลังกาย เรียนเพื่อรู้และอนุรักษ์มรดกสายมวยไชยา และเรียนเพื่อเป็นนักมวยอาชีพ เรียนที่ค่ายมวยครูสุรัติ มวยไชยายิม (ค่ายสิงห์เสรี) อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี ติดต่อสอบถามได้ที่ โทร. 084-625-9929
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น