วันพุธที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2564

ลุมพินีวัน สถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า

ลุมพินีวัน  สถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า
ลุมพินีวัน บ่ายของวันที่ 5 ในโปรแกรมทัวร์แสวงบุญ 4 สังเวชนียสถานในประเทศอินเดียและเนปาลครั้งนี้ จากตอนที่แล้วเราเล่ามาถึงเราได้เช็คอินเข้าที่พักและกินอาหารเที่ยงกันที่  Hotel Buddha Town & Restaurant จากนั้นรถนำเที่ยวก็พาคณะของเราทั้ง 10 คน เดินทางเข้าสู่ ลุมพินีวัน

ภายในบริเวณ ลุมพินีวัน
ลุมพินีวัน มีพื้นที่กว้างมาก ภายในเขตของลุมพินีวันถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วนด้วยกัน ดังนี้
 
  • โซนศักดิ์สิทธิ์  คือบริเวณที่ตั้งของ วิหารมายาเทวี เสาหินอโศก สระโบกขรณี กองอิฐของวัดและสถูปบริวาร
  • โซนวัดนานาชาติ อยู่รอบนอกออกมาจากโซนศักดิ์สิทธิ์ เริ่มนับตั้งแต่คลองที่อยู่ติดกับที่ตั้งของเปลวไฟแห่งสันติภาพ   
  • หมู่บ้านใหม่ลุมพินี อยู่ชั้นรอบนอกสุดของลุมพินีวัน เป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ลุมพินี สถาบันวิจัยนานาชาติลุมพินี ศูนย์ข้อมูลข่าวสารนักท่องเที่ยว ที่พักอาศัยสำหรับผู้แสวงบุญ และมีโรงแรมให้บริการแก่ผู้ที่เดินทางไปแสวงบุญที่ลุมพินีด้วย
ณ ลุมพินีวัน ประเทศเนปาล
ลุมพินีวัน (Lumbini Vana)  เป็นพุทธสังเวชนียสถานเพียงแห่งเดียวที่อยู่ในประเทศเนปาลนอกเขตประเทศอินเดีย เดิมลุมพินีวันเป็นสวนป่าสาธารณะหรือวโนทยานตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโรหิณี  ลุมพินีวันอยู่ห่างจากเมืองติเลาราโกตหรือคนไทยรู้จักในชื่อเมืองกบิลพัสดุ์ไปทางทิศตะวันออกประมาณ 11 กิโลเมตร และห่างจากสิทธารถนครหรือที่เราคุ้นกันในชื่อว่านครเทวทหะไปทางทิศตะวันตก 11 กิโลเมตร ซึ่งก็ถูกต้องตามตำราของพระพุทธศาสนาที่กล่าวว่าลุมพินีวันสถานที่ประสูติตั้งอยู่ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์และเมืองเทวทหะ 
ชาวพุทธจากทั่วโลก ต่างตั้งใจมาให้ถึงสถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า
ลุมพินีวันได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลกจาก UNESCO World Heritage Site ประเภทมรดกทางวัฒนธรรม ภายใต้ชื่อ “ลุมพินี สถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้า” เมื่อปี พ.ศ. 2540 (ค.ศ. 1997)  ลุมพินีวันมีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 2,000 ไร่  โดยยกให้ วิหารมายาเทวี เป็นสถานที่สำคัญที่สุด  ภายในวิหารมายาเทวีแห่งนี้เป็นที่ที่พระนางสิริมหามายาให้การประสูติกาลเจ้าชายองค์น้อยนามว่าสิทธัตถะกุมาร ที่ต่อมาได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้า มหาศาสดาเอกของโลก โดยวิหารมายาเทวีถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานแด่พระนางสิริมหามายา พระมารดาของพระพุทธเจ้า ตัววิหารสร้างสูงจากพื้น ราวๆ 3 เมตร มีบันไดขึ้นลงได้ 2 ด้าน สามารถเข้าไปชมภายในวิหารได้ แต่ไม่อนุญาตให้ถ่ายรูปโดยเด็ดขาด  ภายในวิหารมายาเทวีมี
วิหารมายาเทวี สระโบกขรณีและเสาหินพระเจ้าอโศก
  • รูปปั้นของพระนางมายาเทวี ขณะพระองค์กำลังให้กำเนิดเจ้าชายสิทธัตถะขนาดเท่าคนจริงเชื่อว่าสร้างในคริสต์ศตวรรษที่ 4 
  • แผ่นศิลาหมาย เป็นตำแหน่งสำคัญและศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของลุมพินีวัน วางระบุตำแหน่งที่ประสูติของพระพุทธเจ้าที่ชัดเจนแน่นอน   มีแท่นศิลาขนาดประมาณ 5×5 นิ้ว ที่เชื่อว่าเป็นรอยพระบาทของพระกุมารสิทธัตถะเมื่อครั้งประสูติ  มีการตรวจสอบหินนี้ว่ามีอายุเกิน 2,000 ปีมาแล้ว
วิหารมายาเทวี 
 ใกล้กับประตูทางออกด้านหลังวิหารมายาเทวี จะเห็นสระปุสกรรณณิหรือสระน้ำโบกขรณี สระศักดิ์สิทธิ์ที่พระนางมายาเทวีได้ลงอาบน้ำก่อนที่จะประสูติเจ้าชายสิทธัตถะ

เสาหินของพระเจ้าอโศกมหาราช
เสาอโศก เป็นเสาหินที่พระเจ้าอโศกมหาราชสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นการประกาศสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนาและมีความเกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าโดยตรง เสาต้นนี้ถูกค้นพบในปี พ.ศ.2438-2439 บนเสาพบว่ามีการจารึกเป็นอักษรพราหมณ์ที่ระบุว่า “Sakyamuni Buddha was born here” “ซึ่งแปลว่า เจ้าชายสิทธัตถะประสูติที่นี่ 
เสาหินพระเจ้าอโศกที่ ลุมพินีวัน หินแกะสลักหัวเสาหล่นมาอยู่ด้านล่าง
สวนด้านหลังวิหารมายาเทวี
ในบริเวณใกล้เคียงโดยรอบของวิหารมายาเทวี  พบร่องรอยสถูปเจดีย์และสังฆาวาสสร้างขึ้นล้อมรอบสถานที่ประสูติ ถึงแม้ว่าปัจจุบันได้ชำรุดทรุดโทรมไปตามกาลเวลา แต่ก็เป็นหลักฐานสำคัญชี้ให้เห็นว่า มีผู้ที่นับถือศรัทธาพยายามเข้ามามาอยู่ใกล้ๆ สถานที่ประสูติ สังเวชนียสถานศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้มาตั้งแต่ครั้งบรรพกาล
พระพุทธเจ้าน้อย
พระพุทธเจ้าน้อย   สร้างโดยคณะผู้ศรัทธาชาวไทยและได้นำมาประดิษฐานไว้ที่นี่เมื่อปี พ.ศ. 2556 เป็นศิลปะการสร้างที่มีความสวยงามอลังการแบบไทย เป็นสัญลักษณ์ให้รู้ว่าพระพุทธองค์ได้ประสูติ ณ ที่แห่งนี้ เป็นจุดสำคัญอีก 1 แห่งที่คณะผู้แสวงบุญส่วนใหญ่ต้องแวะมาถ่ายรูปด้วยเพราะรูปปั้นมีการออกแบบด้วยพุทธศิลป์ที่สวยงามมาก
เปลวเพลิงแห่งสันติภาพ
เปลวเพลิงแห่งสันติภาพ ตั้งอยู่ไม่ไกลจากพระพุทธเจ้าน้อย ถูกสร้างขึ้นมาโดยองค์การสหประชาชาติเมื่อปี ค.ศ. 1986  ในโอกาสปีแห่งสันติภาพโลก  มีการนำเปลวเพลิงสันติภาพซึ่งส่งต่อโดยกษัตริย์คญาเนนทราชาห์และนักกรีฑาจากทั่วโลกรวม 54 ประเทศมายังลุมพินีวัน ซึ่งตั้งแต่ปี 1986 เป็นต้นมา เปลวเพลิงแห่งสันติภาพแห่งนี้ก็ลุกโชนเรื่อยมาไม่เคยดับเลย

เมื่อเราอยู่ตรงหน้าเปลวไฟแห่งสันติภาพ จะเห็นสระน้ำเชื่อมต่อไปเป็นลำคลองอยู่ทางทิศเหนือของเปลวไฟสันติภาพ คลองนี้มีชื่อเรียกว่า Central Canal กินพื้นที่แกนกลางของลุมพินีวันราว 1 ใน 3 ของทั้งหมดโดยด้านฝั่งตะวันตกของลำคลองคือวัดของประเทศต่างๆ ในนิกายมหายาน ส่วนฝั่งตะวันออกของลำคลองจะเป็นที่ตั้งของวัดในนิกายเถรวาทซึ่งก็มีวัดไทยตั้งอยู่ด้วยชื่อว่า วัดไทยลุมพินี  

 ที่มองเห็นอาคารรูปโดมสีขาวอยู่สุดคลองคือเจดีย์สันติภาพโลก  สร้างโดยการนำของคณะสงฆ์นิกายนิปปอนซาน เมียวโฮจิ

ระฆังสันติภาพ ในลุมพินีวัน
ระฆังสันติภาพ อยู่ห่างจากเปลวเพลิงสันติภาพประมาณ 25 เมตร สร้างถวายโดยชาวธิเบตเพื่อสักการะแด่พระรัตนไตร เป็นสัญลักษณ์แห่งสันติภาพชั่วนิรันดร์ และเป็นเกียรติแก่ราชอาณาจักรเนปาลดินแดนแห่งการอุบัติของพระพุทธเจ้า โดยทุกครั้งที่มีเสียงระฆังดังขึ้นก็เปรียบกับพระพุทธวจนะที่ดังก้องกังวานผ่านถ้อยคำในพระสูตร พระพุทธมนต์ เข้าไปในหัวใจของผู้สาธยายมนต์


ติดตามอ่านบทความทั้งหมดใน ประสบการณ์เดินทางไปแสวงบุญ 4 สังเวชนียสถาน 8 วัน ในประเทศอินเดียและเนปาล ได้ที่ www.rkatour.com
สนใจเดินทางไปทัวร์แสวงบุญ 4 สังเวชนียสถาน สักการะสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของพระพุทธศาสนา สถานที่ประสูติ ตรัสรู้ ปฐมเทศนา และปรินิพพาน รวมถึงสถานที่สำคัญอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งพุทธกาล  สอบถามรายละเอียดการเดินทางได้ที่ โทร. 084-625-9929  

สามารถสมัครเป็นเพื่อนทางไลน์ หรือช่องทาง  https://lin.ee/dcUb0ed จะได้ไม่พลาดข่าวสารใหม่ๆและโปรโมชั่นทัวร์โดนๆ ที่อัพเดททุกวัน

เขียนโดย ศักดิ์เพ็ชร  เรืองแพ

ไม่มีความคิดเห็น: