วันพุธที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2564

พาไปชมคฤหาสน์ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี

คฤหาสน์ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี
 จากตอนที่แล้ว เราเล่ากันมาถึงวันที่ 6 ของการเดินทางในประเทศอินเดียและเนปาล ช่วงเช้าเราออกมาจากแคว้นลุมพินีประเทศเนปาล ข้ามด่านพรมแดนที่โสเนารี แล้วไปกินโรตีอร่อยๆ ที่ วัดไทย960 หรือชื่อเต็มว่าวัดไทยนวราชรัตนาราม960  จากนั้นเราก็เดินทางต่อเพื่อไปกรุงสาวัตถี สามารถติดตามอ่านบทความที่เขียนแต่ละตอนได้ที่นี่

วัดสิธธาราชมณเฑียร  ประเทศอินเดีย 
วัดสิธธาราชมณเฑียร เมื่อคณะของเราทั้ง 10 คน ออกมาจากวัดไทย960 ซึ่งเป็นเวลาประมาณสิบโมงเช้านิดหน่อย ยังไม่ทันหิวมาก จึงเดินทางกันต่อเพื่อไม่ให้เสียเวลา เพราะกินอาหารแบบแขกมาหลายมื้อติดๆ กัน ชักคิดถึงอาหารแบบไทยๆ  พอใกล้เที่ยงรถนำเที่ยวก็ได้พาคณะผู้แสวงบุญของเราแวะที่วัดสิธธาราชมณเฑียร ซึ่งก็ยังอยู่ในรัฐพียูหรือรัฐอุดตรประเทศ เพราะมีการประสานงานกันล่วงหน้าไว้แล้ว คณะของเราไปถึงจึงมีเมนูอาหารไทยเป็นก๋วยเตี๋ยวเรือร้อนๆ ให้กินอร่อยๆ มากเลย
 ไปถึงวัดสิธธาราชมณเฑียร ทางโรงครัวก็ได้เตรียมอาหารไว้ให้เรียบร้อยแล้ว ได้กินก๋วยเตี๋ยวเรือร้อนๆปิดท้ายด้วยขนมหวานเมนูข้าวเหนียวเปียกราดกะทิ กินอร่อยและรสชาติเหมือนที่เมืองไทยเป๊ะ เพราะวัตถุดิบและเครื่องปรุงหลายอย่างรวมทั้งแม่ครัวก็นำไปจากเมืองไทย กินแล้วหายคิดถึงอาหารไทยมีเรี่ยวแรงพร้อมตลุยอินเดียกันต่อได้สบายๆ แล้วละ 
วัดสิธธาราชมณเฑียร รัฐพียู อินเดีย
หลังจากพวกเราสบายท้องอิ่มอกกันแล้วก็ไปอิ่มใจสนทนากับพระอาจารย์ที่มาจำพรรษาอยู่ที่นี่ ทักทายปราศัยทำความรู้จักกันพอสมควรก็ได้ขออนุญาตลาท่านเพื่อเดินทางต่อไป ส่วนสาธุชนท่านใดที่มีแผนจะเดินทางไปอินเดีย โดยเฉพาะไปที่รัฐอุตตรประเทศต้องการความสะดวกเรื่องอาหารและที่พักหรือท่านใดมีความประสงค์สมทบทุนทำบุญพัฒนาวัดก็ติดต่อไปที่วัดสิธธาราชมณเฑียร ได้โดยตรงตามที่อยู่ด้านล่าง 
ติดต่อวัดสิธธาราชมณเฑียร รัฐพียู อินเดีย
เมื่อเราออกจากวัดสิธธาราชมณเฑียร  ช่วงบ่ายโมงนิดๆ รถนำเที่ยวก็พาพวกเราตรงดิ่งไปที่คฤหาสน์ของอนาถบิณฑิกเศรษฐีผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นเลิศในการถวายทาน
บ้านของอนาถบิณฑิกเศรษฐี
อนาถบิณฑิกเศรษฐี เดิมท่านชื่อว่าสุทัตตะเศรษฐี เมีบิดาชื่อว่าสุมนะเศรษฐี เป็นชาวเมืองสาวัตถีอยู่ในแคว้นโกศล ท่านมีชีวิตร่วมสมัยกับพระพุทธเจ้า  สุทัตตะเศรษฐีท่านเป็นคนที่ใจบุญมากชอบช่วยเหลือคนตกทุกข์ได้ยาก ทำให้ชาวเมืองสาวัตถีเรียกท่านว่า อนาถบิณฑิกเศรษฐี แปลได้ว่า เศรษฐีผู้เป็นที่พึ่งของคนยาก แต่ถ้าแปลตามรากศัพท์ของภาษาจะแปลว่า เศรษฐีผู้มีก้อนข้าวให้กับคนยากจน
ห้องที่เชื่อว่าเคยเป็นที่เก็บสมบัติของอนาถบิณฑิกเศรษฐี 
จากบันทึกเกี่ยวกับพระพุทธประวัติกล่าวถึงอนาถบิณฑิกเศรษฐีไว้ว่า ท่านได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าที่เมืองราชคฤห์แล้วได้บรรลุธรรมโสดาบัน มีความศรัทธาและเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าอย่างมาก ต่อมาท่านจึงตั้งใจสร้างวัดเชตวันมหาวิหารถวายแก่พระพุทธเจ้าด้วยเงินจำนวนมหาศาล นัยว่าท่านต้องใช้ทรัพย์ของท่านปูจนเต็มพื้นที่ดินที่จะซื้อ  จากเจ้าเชตฯ ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินและดำรงพระยศเป็นเจ้าชายในขณะนั้น ซึ่งจะเล่าเต็มๆ อีกทีเมื่อเราไปถึงวัดพระเชตวันมหาวิหาร
บ้านหรือคฤหาสถ์ที่เคยเป็นที่อยู่ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี 
สุทัตตะเศรษฐีเป็นผู้อุปถัมภ์บำรุงพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์อย่างดีมาก เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้พระพุทธเจ้าเสด็จไปประทับจำพรรษานานมากที่สุดที่วัดพระเชตวันมหาวิหารถึง 19 พรรษา    ท่านเศรษฐีผู้นี้ได้รับยกย่องจากพระพุทธเจ้าให้เป็น อุบาสกผู้เลิศในการเป็นผู้ถวายทาน 
บ้านหรือคฤหาสถ์ที่เคยเป็นที่อยู่ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี 
เรื่องราวของอนาถบิณฑิกเศรษฐี มีปรากฏในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนามากมาย ล้วนเป็นเรื่องราวที่แสดงถึงความศรัทธาและความเอาใจใส่ในการบำรุงพระพุทธศาสนา เป็นผู้ยินดียิ่งในการให้ทาน เมื่อจะไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าก็ไม่เคยไปมือเปล่า จะมีอาหารตามกาลไปถวายอยู่เสมอ  ขณะที่พระพุทธองค์ประทับอยู่ที่เชตวันมหาวิหาร ท่านเศรษฐีจะไปเข้าเฝ้าพระพุทธองค์ทุกวัน วันละ 2-3 ครั้ง มีบันทึกกล่าวไว้ว่าถ้าท่านเศรษฐีไปเฝ้าช่วงเวลาฉันอาหารจะเตรียมข้าวยาคู และของขบฉันอื่น ๆ ไปถวาย   ถ้าไปเลยเวลาที่ฉันอาหารแล้วก็จะนำเภสัชมีเนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อยเป็นต้นไปถวาย  ถ้าไปในเวลาเย็นก็จะเตรียมเครื่องสักการะ มีดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้และผ้าไปถวาย  
ห้องเก็บสมบัติของอนาถบิณฑิกเศรษฐี 
แต่ทั้ง ๆ ที่ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าอยู่เป็นประจำ ท่านไม่เคยทูลถามปัญหาธรรมกับพระพุทธองค์เลย เพราะเกรงว่าพระองค์จะทรงลำบาก   ครั้งหนึ่งพระพระพุทธเจ้าได้ตรัสกับอนาถบิณฑิกเศรษฐีว่า ท่านอนาถบิณฑิกรักษาพระองค์ในฐานะที่ไม่ควรรักษา เพราะพระองค์บำเพ็ญบารมีมาด้วยความยากลำบาก เป็นเวลานานถึง ๔ อสงไชยนับแสนกัป ก็เพื่อจะสอนคนอื่นแล้วก็ทรงอาศัยเรื่องของท่านเศรษฐีนั่นเองที่เคยเกิดขึ้นแล้วในอดีตเล่าให้ท่านเศรษฐีฟัง ดังปรากฏในชาดกต่าง ๆ เช่น ขทิรังคชาดก ปุณณปาติชาดก กาลกัณณิชาดก เป็นต้น โดยธรรมส่วนมากที่พระพุทธองค์ตรัสแก่ท่านเศรษฐีเป็นธรรมสำหรับคฤหัสถ์ เช่น
  • จิตที่คุ้มครองรักษาไว้ดีแล้ว ก็เหมือนกับเรือนอันมีเครื่องมุง เครื่องบังดี ฉะนั้น การให้ทานอาหาร ย่อมได้รับผล คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ. 
  • หน้าที่ ๔ อย่างของพ่อบ้านผู้มีศรัทธา  คือ บำรุงพระภิกษุสงฆ์ด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานเภสัช.
  • ความปรารถนาของบุคคลในโลกจะสมหมายได้ยาก ๔ อย่างคือ  ขอสมบัติจงเกิดมีแก่เรา , ขออายุให้ยืนนาน , ขอให้มีรูปงาม , ขอให้มีความสุข , ขอให้มีเกียรติยศชื่อเสียง , เมื่อสิ้นชีพแล้วขอเราจงไปบังเกิดในโลกสวรรค์.
  • ความสุขของคฤหัสถ์ ๔ อย่าง คือ สุขเกิดแต่ความมีทรัพย์ , สุขเกิดแต่การจ่ายทรัพย์บริโภค , สุขเกิดแต่ความไม่ต้องเป็นหนี้ , สุขเกิดแก่การประกอบการงานที่ไม่มีโทษ.
  • วิธีใช้โภคทรัพย์ให้เป็นประโยชน์ ๕ อย่าง คือ เลี้ยงตัว บิดา มารดา บุตร ภรรยา บ่าวไพร่ ให้เป็นสุข , เลี้ยงเพื่อนฝูงให้เป็นสุข  , บำบัดอันตรายอันจะเกิดแต่เหตุต่าง ๆ , ทำพลี ๕ อย่าง คือสงเคราะห์ญาติ  ต้อนรับแขก ทำบุญอุทิศให้ผู้ตาย ถวายเป็นหลวงเช่นเสียค่าภาษี เป็นต้น และ ทำบุญอุทิศให้เทวดา,  บริจาคทานในสมณพาหมณ์ผู้ประพฤติชอบ.
  • กรรมกิเลสซึ่งเป็นเหตุให้บุคคลเศร้าหมอง ๕ อย่าง(ศีล5) คือ ทำชีวิตสัตว์ให้ตกล่วง ,  ถือเอาสิ่งของที่เจ้าของเขาไม่ได้ให้ด้วยอาการขโมย ,  ประพฤติผิดในกาม ,  พูดเท็จ ,   ดื่มสุราและเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท.
  • เป็นต้น 
ห้องคลังสมบัติของอนาถบิณฑิกเศรษฐี
เนื่องจากท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี มีศรัทธาในพระศาสนามาก ได้สละทรัพย์เพื่อทำบุญเป็นเงินจำนวนมากเหลือคณนา ดังนั้นท่านเศรษฐีจึงได้รับเกียรติพิเศษจากพระเจ้าปเสนทิโกศล ให้เป็นคนปลูกต้นโพธิ์ไว้หน้าพระเชตวันมหาวิหาร เพื่อให้เป็นปูชนียสถานแก่ประชาชนชาวนครสาวัตถีแทนพระพุทธองค์ในคราวที่เสด็จจาริกไปที่อื่น (ปัจจุบันต้นโพธิ์นี้ก็ยังคงอยู่) พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้ปลูกได้  ต้นโพธิ์นี้ปรากฏชื่อว่า อานันทโพธิ เพราะท่านพระอานนท์เป็นผู้ทูลขอพระพุทธเจ้าให้ปลูก  
ต้นโพธิ์ที่อนาถบิณฑิกเศรษฐีเป็นผู้ปลูกในสมัยพุทธกาลที่วัดพระเชตวันมหาวิหาร  
ในชีวิตของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีได้ตกอับลงเพราะต้องเสียทรัพย์ไปครั้งใหญ่ถึง ๒ ครั้ง คือ พวกพ่อค้าผู้เป็นสหายได้ขอยืมเงินไป ๑๘ โกฏิ แล้วไม่คืน และมีทรัพย์อีกส่วนหนึ่งที่ฝังไว้ที่ริมฝั่งแม่น้ำจำนวน ๑๘ โกฏิ ได้ถูกน้ำเซาะตลิ่งพังสมบัติทั้งหมดก็ถูกน้ำพัดไปในมหาสมุทร แม้ท่านจะตกอับลงอย่างนี้ก็ตาม ท่านก็ยังคงให้ทานอยู่เสมอ และทุกครั้งที่ท่านตกอับยากไร้ลงที่สุดแล้วท่านก็กลับมามีฐานะมั่นคงดังเก่าด้วยบุญที่ท่านสะสมมา

ในคราวที่ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีตกอับลงนั้น พระพุทธองค์ก็ได้เสด็จไปยังนครสาวัตถีอีกครั้งหนึ่ง เสด็จประทับ ณ พระเชตวันมหาวิหาร เมื่อท่านเศรษฐีไปเข้าเฝ้าก็ตรัสถามว่า “ในตระกูลของท่าน ยังมีการให้ทานอยู่หรือคฤหบดี?”  ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีทูลตอบว่า “ยังให้ทานอยู่ พระเจ้าข้า แต่ทานนั้นเป็นของเศร้าหมอง เป็นปลายข้าวกับน้ำผักดอง ” พระพุทธองค์ตรัสว่า “วัตถุที่ให้นั้นจะเศร้าหมองหรือประณีตก็ตาม แต่ถ้าผู้ให้ไม่เชื่อในกรรมและผลของกรรมทานนั้นย่อมให้ผลไม่ดี แต่ถ้าผู้ให้ทานด้วยความเคารพ ให้ด้วยความนอบน้อม ให้ด้วยมือของตนเองไม่ทิ้งให้เทให้ ให้เพราะเชื่อกรรมและผลของกรรม ทานนั้นย่อมให้ผลดี”
บ้านของอนาถบิณฑิกเศรษฐี
ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีได้บำเพ็ญทานรักษาศีลตลอดมา มิได้บกพร่องจนกระทั่งถึงบั้นปลายแห่งชีวิต ขณะที่พระพุทธองค์เสด็จประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ท่านได้ล้มป่วยหนักลง จนท่านรู้ตัวว่าจะต้องตายแน่แล้ว จึงได้ส่งคนไปกราบทูลพระพุทธองค์ว่าท่านป่วยหนักจนถึงต้องนอนลุกไม่ได้อีก บัดนี้ขอน้อมเกล้าถวายบังคมมาถึงพระองค์ และพร้อมกันนั้นก็ให้นิมนต์ท่านพระสารีบุตรเถระ มาที่บ้านด้วย ท่านพระสารีบุตรเถระพร้อมด้วยท่านพระอานนท์ได้ไปเยี่ยมท่านเศรษฐีที่บ้าน ไต่ถามถึงความป่วยไข้แล้ว ได้แสดงธรรมเทศนา สอนท่านให้ถอน ตัณหา ทิฐิ มานะ ไม่ให้ยึดมั่นถือมั่นว่านี้ของเรา นี้เป็นเรา นี้เป็นตัวของเรา เป็นต้น ท่านเศรษฐีร้องไห้น้ำตาไหล ถึงกับพูดว่า ยังไม่เคยฟังธรรมกถาที่ไพเราะจับใจถึงเพียงนี้เลย ธรรมเทศนานี้มีชื่อว่า อนาถบิณฑิโกวาทสูตร ครั้นท่านพระเถระทั้งสองจากไปแล้วไม่นานนัก ท่านเศรษฐีก็ถึงกาลกิริยาตายบนเตียงนอนของท่านเอง แล้วไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต  
บ้านหรือคฤหาสถ์ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี
หมายเหตุ บ้านหรือคฤหาสถ์ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี ที่เราเห็นในปัจจุบันเป็นซากโบราณสถานในลักษณะของสถูป เนื่องจากหลังพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานประมาณ 200 กว่าปี “พระเจ้าอโศกมหาราช” ได้สร้างสถูปขึ้น ณ ที่บริเวณแห่งนี้เพื่อเป็นอนุสรณ์รำลำถึงคุณงามความดีของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี

การที่พวกเราได้มีโอกาสดีไปเห็นบ้านของอนาถบิณฑิกเศรษฐี รวมทั้งได้ฟังเรื่องเล่าที่เกี่ยวข้องกันมา ได้เห็นสัจธรรมหลายๆ อย่าง ทำให้เกิดสติและปัญญาเพิ่มพูนขึ้น คิดได้ว่าการให้ทานนั้นเป็นสิ่งที่ดี เป็นสิ่งที่ควรอนุโมธนาสาธุ น้อมนำให้พวกเราเข้าถึงจิตกุศลที่ดีที่งามยิ่งขึ้น แต่การได้บรรลุนิพพานหลุดพ้นจากวัฏสงสารหรือเข้าถึงธรรมของพระพุทธเจ้าต้องเกิดจากการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบทำจิตให้พ้นความเศร้าหมองทั้งหลายจึงจะเข้าถึงธรรมขั้นสูงได้ ซึ่งแม้นว่าเราจะเป็นเพียงฆราวาสผู้ครองเรือนถ้าคิดดีทำดีชีวิตก็จะมีแต่ความสุขความเจริญ ถึงจะตกอับยากไร้ในที่สุดก็ต้องดีขึ้น ถ้าได้ฝึกจิตคิดดีและเรียนรู้ธรรมะแก่นแท้ของพระพุทธศาสนาอยู่เสมอ การเข้าถึงธรรมในลำดับที่สูงขึ้นก็ใช่ว่าจะทำไม่ได้ เพราะพระพุทธเจ้าสอนให้เราให้เป็นทั้งนักคิดและนักปฏิบัติ ถ้าปฏิบัติจริงก็ได้ผลจริง แล้วติดตามตอนต่อไปนะครับจะพาไปเยี่ยมบ้านเกิดขององคุลีมาลกัน
บ้านขององคุลีมาล
ติดตามอ่านบทความทั้งหมดใน ประสบการณ์เดินทางไปแสวงบุญ 4 สังเวชนียสถาน 8 วัน ในประเทศอินเดียและเนปาล ได้ที่  www.rkatour.com

สนใจเดินทางไปทัวร์แสวงบุญ 4 สังเวชนียสถาน สักการะสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของพระพุทธศาสนา สถานที่ประสูติ ตรัสรู้ ปฐมเทศนา และปรินิพพาน รวมถึงสถานที่สำคัญอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งพุทธกาล  สอบถามรายละเอียดการเดินทางได้ที่ โทร. 084-625-9929  
สามารถสมัครเป็นเพื่อนทางไลน์ หรือช่องทาง  https://lin.ee/dcUb0ed จะได้ไม่พลาดข่าวสารใหม่ๆและโปรโมชั่นทัวร์โดนๆ ที่อัพเดททุกวัน

เขียนโดย ศักดิ์เพ็ชร  เรืองแพ

ไม่มีความคิดเห็น: