วันศุกร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2564

มกุฏพันธนเจดีย์ สถานที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ

มกุฏพันธนเจดีย์  สถานที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระของพระพุทธเจ้า
มกุฏพันธนเจดีย์ หลังจากคณะของเราได้ออกมาจากมหาปรินิพพานวิหารในเขตสาลวโนทยานซึ่งเป็นที่ที่พระพุทธเจ้าได้เสด็จดับขันธปรินิพพานใต้ต้นสาละ ตามที่ได้เล่าไปในบทความก่อนหน้านี้ ใช้เวลาเดินทางมาด้วยรถนำเที่ยวไม่นานเราก็มาถึงมกุฏพันธนเจดีย์ 

สถานที่ถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระพุทธเจ้า
เมื่อพระพุทธองค์ได้เสด็จมาสวรรคตในเมืองกุสิราซึ่งเป็นชื่อของเมืองเล็กๆ ในสมัยนั้น ซึ่งปัจจุบันคือตำบลกาเซีย รัฐอุตตรประเทศ ของประเทศอินเดีย เหตุที่พระพุทธเจ้าได้เลือกมาสวรรคตที่เมืองนี้ด้วยเหตุไม่ต้องการให้เกิดสงครามแย่งชิงพระบรมสารีริกธาตุจากผู้ที่เคารพศรัทธาในพระองค์ เมืองกุสินาราเป็นเมืองเล็กที่ไม่ได้มีความเข้มแข็งทางทหารและก็ไม่ได้รุ่งเรืองทางเศรษฐกิจการค้าย่อมต้องหาทางประนีประนอมแบ่งปันพระบรมอัฐิของพระพุทธเจ้ากับเมืองใหญ่และเจ้าผู้ครองแคว้นต่างๆ จึงเป็นเหตุให้เลี่ยงการเกิดสงครามได้ง่ายกว่าการเสด็จไปสวรรคตในเมืองใหญ่ที่เข้มแข็งซึ่งอาจจะไม่ยอมแบ่งปันพระบรมสารีริกขธาตุให้เมืองอื่น
คณะที่ไปแสวงด้วยกันร่วมสวดมนต์ระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า
หลังจากพระพุทธเจ้าได้สวรรคตในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 6 ที่ชาวพุทธกำหนดเป็นวันวิสาขบูชา ได้มีการไว้พระบรมศพอีก 7 วันในบริเวณที่สวรรคต  จากนั้นก็ได้เคลื่อนย้ายพระพุทธสรีระมาทำการถวายพระเพลิง ณ ด้านตะวันออกของเมืองกุสินารา ซึ่งห่างจากจุดที่สวรรคตประมาณ 1 กิโลเมตร ปัจจุบันตำแหน่งที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระคือตำบลกาเซีย รัฐอุตตรประเทศ ในวันถวายพระเพลิงจึงกำหนดเป็นอีก 1 วันสำคัญทางพระพุทธศาสนาเรียกว่า วันอัฏฐมีบูชา  ตรงกับวันแรม 8 ค่ำ เดือน 6 หรือเดือนวิสาขะ 
มกุฏพันธนเจดีย์
พิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระผู้มีพระภาคเจ้า  หลังจากพระพระพุทธองค์เสด็จปรินิพพานใต้ต้นสาละในคืนวันเพ็ญเดือนวิสาขะ พวกเจ้ามัลลกษัตริย์ได้จัดบูชาพระบรมศพด้วยของหอมดอกไม้และเครื่องดนตรีทุกชนิด ที่มีอยู่ในเมืองกุสินาราตลอดทั้ง 7 วัน แล้วได้อัญเชิญพระสรีระไปทางทิศตะวันออก ของพระนครเพื่อถวายพระเพลิง พวกเจ้ามัลละได้ปฏิบัติต่อพระพุทธสรีระตามคำแนะนำของพระอานนท์โดยห่อพระสรีระด้วยผ้าใหม่แล้วซับด้วยสำลีแล้วใช้ผ้าใหม่ห่อทับอีก ทำเช่นนี้จนหมดผ้า ๕๐๐ คู่ แล้วเชิญลงในรางเหล็กที่เติมด้วยน้ำมัน แล้วทำจิตกาธานด้วยดอกไม้จันทน์ และของหอมทุกชนิด จากนั้นอัญเชิญ พวกเจ้ามัลละระดับหัวหน้า 4 คน สระสรงเกล้าและนุ่งห่มผ้าใหม่ พยายามจุดไฟที่เชิงตะกอน แต่ก็ไม่อาจจุดไฟให้ติดได้  

พระอนุรุทธะซึ่งพระเถระผู้ใหญ่ในที่นั้นได้แจ้งว่า เพราะเทวดามีความประสงค์ให้รอพระมหากัสสปะที่กำลังเดินทางมาเพื่อถวายบังคมพระบาทเสียก่อน ไฟก็จะลุกไหม้   เมื่อพระมหากัสสปะมาถึงและได้ทำการอัญชลีและประทักษิณรอบเชิงตะกอน 3 รอบ พระมหากัสสปะเปิดผ้าทางพระบาทแล้วถวายบังคมพระบาททั้งสองด้วยเศียรเกล้า โดยท่านกำหนดว่าตรงนี้เป็นพระบาทแล้ว เข้าจตุตถฌาน อันเป็นบาทแห่งอภิญญา ออกจากฌานแล้วอธิษฐานว่า "ขอพระยุคลบาท ของพระองค์ที่มีลักษณะเป็นจักรอันประกอบด้วยซี่พันซี่ ขอจงชำแรกคู่ผ้า 500 คู่ พร้อมทั้งสำลี ไม้จันทน์ ออกเป็นช่อง ประดิษฐานเหนือเศียรเกล้าของข้าพระองค์ด้วยเถิด" เมื่ออธิษฐานเสร็จ พระยุคลบาทก็แหวกคู่ผ้าทั้ง 500 คู่ออกมา พระเถระจับยุคลบาทไว้มั่น และน้อมนมัสการเหนือเศียรเกล้าของตน มหาชนต่างเห็นความอัศจรรย์นั้น ก็ส่งเสียงแสดงความอัศจรรย์ใจ เมื่อพระเถระและภิกษุ 500รูปที่มาพร้อมพระมหากัสสปะได้ถวายบังคมแล้ว ฝ่าพระยุคลบาทก็เข้าประดิษฐานในที่เดิมแล้วเปลวเพลิงก็ลุกโพลงท่วมพระสรีระของพระศาสดา 
อาจารย์ด็อกเตอร์นพดล ไกด์ผู้ให้ความรู้ในการไปแสวงบุญในประเทศอินเดีย
 เมื่อข่าวการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า และการถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ พระสรีระได้กลายเป็นพระบรมสารีริกธาตุ ได้ล่วงรู้ไปถึงเหล่ากษัตริย์ในแว่นแคว้นต่างๆ  ก็ต่างปรารถนาจะได้พระบรมธาตุไปบูชา จึงส่งฑูตมาขอจากเหล่ามัลลกษัตริย์  ครั้งแรกเหล่ามัลลกษัตริย์ไม่ยอมยกให้  กษัตริย์จากแว่นแคว้นต่างๆ  จึงยกกองทัพมาเพื่อแย่งชิงพระบรมสารีริกธาตุ เมื่อกกองทัพของเมืองต่างๆ ยกมาถึงหน้าประตูเมืองกุสินารา  กำลังจะเกิดศึกสงครามเพื่อแย่งชิงพระบรมธาตุก็ได้มีพราหมณ์ชื่อว่า โทณพราหมณ์  ซึ่งเกรงว่าจะเกิดสงครามใหญ่โตจึงได้ขึ้นไปยืนบนป้อมประตูเมืองประกาศว่า  พระผู้มีพระภาคเจ้าของเรา ทรงสรรเสริญขันติ สรรเสริญสามัคคีธรรม การที่เราจะมาประหัตประหารเพราะแย่งชิงพระบรมธาตุของพระองค์ผู้ประเสริฐย่อมไม่สมควร ดังนั้นขอให้ท่านทั้งหลายจงยินดีในการที่จะแบ่งกันไปเป็น 8 ส่วน และนำไปบูชายังบ้านเมืองของท่านทั้งหลายเถิด เพราะผู้ศรัทธาในพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นมีมาก 

ในพระไตรปิฎก ทีฆนิกาย มหาวรรค มหาปรินิพพานสูตร กล่าวไว้ว่าเจ้าผู้ครองแว่นแคว้นและเมืองต่างๆ เหล่านั้นได้ตกลงให้โทณพราหมณ์เป็นผู้แบ่งออกเป็น 8 ส่วนเท่าๆ กัน ซึ่งเหล่าเจ้าผู้ครองแคว้นและกษัตริย์ที่ได้รับแบ่งพระบรมสารีริกธาตุไปประกอบด้วย พระเจ้าอชาตศัตรูพระเจ้าแผ่นดินเมืองมคธ , พวกกษัตริย์ลิจฉวีเมืองเวสาลี  , พวกกษัตริย์ศากยะเมืองกบิลพัสดุ์  , พวกกษัตริย์ถูลีเมืองอัลกัปปะ ,  พวกกษัตริย์โกลิยะเมืองรามคาม  , พราหมณ์ผู้ครองเมืองเวฏฐทีปกะ , พวกเจ้ามัลละเมืองปาวา  , พวกเจ้ามัลละ เมืองกุสินารา  โดยพวกเจ้าโมริยะเมืองปิปผลิวันได้ส่วนแบ่งเป็นพระอังคาร  ทุกแว่นแคว้นเมื่อได้พระบรมสารีริกธาตุไปก็นำไปเฉลิมฉลองและทำสถูปบูชา โทณพราหมณ์ก็ได้ตุมพะที่ใช้ตวงแบ่งพระบรมสารีริกธาตุไป  จึงนับพระสถูปที่สร้างขึ้นรวมมีทั้งหมด 10 แห่งใน 9 เมือง รวมสถูปที่บรรจุพระสรีระ 8  แห่งพระสถูปบรรจุพระอังคาร 1 แห่ง และสถูปบรรจุตุมพะของโทณพราหมณ์อีก 1 แห่ง
คณะที่เดินทางไปแสวงบุญด้วยกันเดินสวดมนต์ระลึกถึงพระพุทธคุณ
มกุฏพันธนเจดีย์  เดิมทีบริเวณมกุฏพันธนเจดีย์เป็นเชิงตะกอนไม้จันทน์หอมที่ใช้สำหรับถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระของพระพุทธเจ้า  ต่อมาพระเจ้าอโศกมหาราชได้สร้างพระสถูปครอบบริเวณนั้นลง แต่สมัยต่อมาพระสถูปองค์นี้ถูกทำลายลงเหลือเพียงแต่ซากปรักหักพังจากศัตรูผู้รุกราน ในปัจจุบันรัฐบาลอินเดียได้เห็นถึงความสำคัญของสถานที่นี้จึงได้เข้ามาบูรณะซ่อมแซมพระสถูปองค์นี้ไว้อย่างดี   

ณ ที่มกุฏพันธนเจดีย์ แม้จะมีเหลือเพียงเจดีย์ซึ่งเป็นอนุสรณ์สถาน แต่ ณ สถานที่แห่งนี้ก็มีเรื่องราวมากมาย เป็นสถานที่สำคัญและศักดิ์สิทธิ์สำหรับชาวพุทธ ได้เห็นได้รู้สัจธรรมความจริงของการเกิดแล้วต้องดับไป แม้นมหาบุรุษผู้ยิ่งใหญ่มากด้วยบุญญาบารมีก็ไม่อาจเลี่ยงความจริงนี้ได้ ก็จะได้เตือนสติตนให้หมั่นสร้างสมปัญญาและบารมีเพื่อจะได้ก้าวพ้นจากวัฏสงสารตามแนวทางที่พระศาสดาได้ชี้ทางไว้ให้ แล้วเจอกันใหม่ในตอนหน้าเราจะพาเข้าไปในเมืองกุสินาราไปชมวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ แล้วเช็คอินเข้าพักที่ โรงแรม Bhadant Gyaneshwar Buddha-Vihar 

ติดตามอ่านบทความทั้งหมดใน ประสบการณ์เดินทางไปแสวงบุญ 4 สังเวชนียสถาน 8 วัน ในประเทศอินเดียและเนปาล ได้ที่  www.rkatour.com

สนใจเดินทางไปทัวร์แสวงบุญ 4 สังเวชนียสถาน สักการะสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของพระพุทธศาสนา สถานที่ประสูติ ตรัสรู้ ปฐมเทศนา และปรินิพพาน รวมถึงสถานที่สำคัญอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งพุทธกาล  สอบถามรายละเอียดรายละเอียดได้ที่ โทร. 084-625-9929  

เขียนโดย ศักดิ์เพ็ชร  เรืองแพ

ไม่มีความคิดเห็น: