วันอังคารที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2564

หมู่บ้านกาลามะ ต้นกำเนิดกาลามสูตร

แวะชมหมู่บ้านกาลามะ ประเทศอินเดีย
ออกจากป่ามหาวัน รถนำเที่ยวก็พาคณะของเราที่ไปแสวงบุญในประเทศอินเดียทั้ง 10 คน ไปจอดแวะชมเจดีย์อนุสรณ์สถานของหมู่บ้านกาลามะ

หมู่บ้านกาลามะ มีเป็นที่มาของ กาลามสูตร ซึ่งเกี่ยวกับพระสูตรที่สอนเรื่องสิ่งที่ไม่ควรเชื่อ 10 ประการ เป็นพระสูตรที่มีชื่อเสียงโด่งดังและเป็นที่รู้จักมากที่สุดพระสูตรหนึ่ง ที่แม้แต่นักวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันก็ยอมรับนับถือในพระพุทธเจ้าเพราะพระสูตรข้อนี้เพราะสอดคล้องกับหลักการค้นหาความจริงทางวิทยาศาสตร์ จนนักวิทยาศาสตร์และนักคิดชาวตะวันตกที่มีชื่อเสียงโด่งดังระดับโลกหันมานับถือพระพุทธศาสนากันมาก ยกตัวอย่างเช่น อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ที่แม้นว่าไม่ได้นับถือพระพุทธศาสนาแต่ก็ประกาศยกย่องพระพุทธเจ้าจนนักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ หันมาศึกษาพระพุทธศาสนาอย่างจริงจังมากขึ้น

เจดีย์ หมู่บ้านกาลามะ

ความจริงกาลามะไม่ใช่ชื่อของหมู่บ้าน แต่เป็นชื่อของสกุลของคนทั้งหมดในหมู่บ้านเกสปุตตนิคม แคว้นโกศล ในสมัยพุทธกาลคนทั้งหมู่บ้านล้วนมาจากสกุลเดียวกันคือ กาลามะ คนทั่วไปจึงเรียก กาลามโคตร  และพระสูตรที่กล่าวถึงสิ่งที่ไม่ควรเชื่อ 10 อย่าง ก็ไม่ได้ชื่อว่า กาลามสูตรแต่มีชื่อว่าเกสปุตตสูตร   เหตุที่คนทั่วๆ ไปเรียกว่า กาลามสูตร อาจเพราะเรียกได้ง่ายและคุ้นปากกว่า เกสปุตตสูตร

บ้านของชาวบ้านในชนบท จะเอามูลวัวมาตากแห้งไว้ทำเชื้อเพลิง พอเห็นได้ทั่วๆ ไป
ความเป็นมาของเกสปุตตสูตรซึ่งต่อไปจะขอเรียกว่า กาลามสูตรตามความนิยม มีที่มาดังนี้   ในวันหนึ่งพระพุทธเจ้าได้เสด็จไปยังเกสปุตตนิคมที่ชาวกาลามโคตรอาศัยอยู่  คนเหล่านั้นได้ทราบมาก่อนแล้วว่า พระพุทธเจ้ามีชื่อเสียงโด่งดังอย่างไรก่อนที่พระองค์จะได้เสด็จมาถึงหมู่บ้านของพวกเขา จึงต่างพากันไปเฝ้าพระพุทธเจ้าเป็นจำนวนมาก  คนอินเดียมีนิสัยคล้ายๆ กันอยู่อย่างหนึ่งคือ ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นนักบวชนับถือลัทธินิกายใดหรือว่าพวกเขาจะไม่นับถือศาสนาใดเลยก็ตาม แต่พวกเขาก็ล้วนมีนิสัยอยากจะรับฟังความรู้และต้องการปัญญาจากผู้รู้อยู่เสมอ ไม่ว่าผู้รู้นั้นจะเป็นใคร
ร้านค้าของชาวบ้าน บริเวณทางเข้าเจดีย์หมู่บ้านกาลามะ
ดังนั้นพวกที่ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าในครั้งนั้นจึงมีหลายจำพวก จึงมีอาการในการไปเข้าเฝ้าแตกต่างกัน มีทั้งที่นับถือพระพุทธเจ้าและพวกที่ยังไม่ได้นับถือปะปนกันไป  ในครั้งนั้นบางพวกในกลุ่มกาลามโคตรก็ได้กราบทูลพระพุทธเจ้าขึ้นว่า

"ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ในเกสปุตตนิคมนี้ มีสมณพราหมณ์คือนักบวชในศาสนาต่าง ๆ เดินทางเข้ามาเผยแพร่คำสอนศาสนาของตนอยู่เสมอๆ และสมณพราหมณ์นักสอนศาสนาเหล่านั้นได้กล่าวยกย่องคำสอนแห่งศาสนาของตน แต่ได้ติเตียนดูหมิ่น เหยียดหยาม คัดค้านศาสนาของคนอื่น แล้วสมณพราหมณ์นักสอนศาสนาเหล่านี้ก็จากเกสปุตตนิคมไป

ต่อมาไม่นานก็มีสมณพราหมณ์นักสอนศาสนาพวกอื่นได้เข้ามายังนิคมนี้ แล้วก็กล่าวยกย่องเชิดชูศาสนาของตนแต่ดูหมิ่นเหยียดหยามติเตียนคัดค้านศาสนาของคนอื่น

เมื่อเป็นเช่นนี้ พวกข้าพระองค์ก็มีความสงสัยเกิดขึ้นว่า บรรดาศาสดาหรือนักสอนศาสนาเหล่านั้น ใครเป็นคนพูดจริงใครเป็นคนพูดเท็จ ใครถูกใครผิดกันแน่"
 อาหารพื้นเมือง ของแม่ค้าพ่อค้าชาวอินเดีย
พระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงความเห็นต่อ ชาวกาลามะทั้งหลาย ถึงสิ่งที่ไม่ควรเชื่อ 10 ประการ โดยตรัสว่า  
  • มา อนุสฺสวเนน อย่าเพิ่งเชื่อโดยฟังตามกันมา
  • มา ปรมฺปราย อย่าเพิ่งเชื่อโดยถือว่าเป็นของเก่าเล่าสืบๆ กันมา
  • มา อิติกิราย อย่าเพิ่งเชื่อเพราะข่าวเล่าลือ
  • มา ปิฏกสมฺปทาเนน อย่าเพิ่งเชื่อโดยอ้างคัมภีร์หรือตำรา
  • มา ตกฺกเหตุ อย่าเพิ่งเชื่อโดยคิดเดาเอาเอง
  • มา นยเหตุ อย่าเพิ่งเชื่อโดยคิดคาดคะเนอนุมานเอา
  • มา อาการปริวิตกฺเกน อย่าเพิ่งเชื่อโดยตรึกเอาตามอาการที่ปรากฏ
  • มา ทิฎฐินิชฺฌานกฺขนฺติยา อย่าเพิ่งเชื่อเพราะเห็นว่าต้องกับความเห็นของตน
  • มา ภพฺพรูปตา อย่าเพิ่งเชื่อว่าผู้พูดควรเชื่อได้
  • มา สมโณ โน ครูติ อย่าเพิ่งเชื่อว่าผู้พูดนั้นเป็นครูของเรา
หมู่บ้านกาลามะ
สรุปแล้ว พระพุทธเจ้าตรัสว่าอย่าเพิ่งเชื่อ เพราะเหตุ 10 ประการนี้
แล้วก็ได้ทรงอธิบายในแต่ละหัวข้ออย่างละเอียด ซึ่งหากท่านใดสนใจก็สามารถค้นหาพระสูตรที่ชื่อกาลามสูตรมาศึกษาเพิ่มเติมได้ พระสูตรนี้มีลักษณะของการถามตอบ คือให้ผู้ที่ถามคิดเอาเอง ไม่ได้ยัดเยียดความคิดให้หรือบังคับให้ตอบ และยังได้ตรัสถึงเรื่องพรหมวิหาร  4  ซึ่งมี เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา ที่แผ่ไปยังคนอื่นหรือสัตว์อื่น เมื่อประกอบด้วยความไม่มีเวรเช่นนี้ มีความไม่เศร้าหมองอย่างนี้ มีจิตใจหมดจดอย่างนี้ ก็ย่อมจะได้ความอุ่นใจ 4 ประการคือ

1. ถ้าหากว่าชาติหน้ามีจริง บาปบุญที่ทำไว้มีจริง ก็เมื่อเราทำแต่ดี ไม่ทำชั่ว เราจะชื่นใจว่าเราจะไป เกิดในสุคติโลกสวรรค์แน่นอน นี้เป็นความอุ่นใจข้อที่หนึ่ง

2. ถ้าหากว่าชาติหน้าไม่มีจริงบาปบุญที่คนทำไว้ไม่มีจริงก็เมื่อเราไม่ทำชั่ว ทำแต่ดีชาตินี้เราก็สุข แม้ชาติหน้าจะไม่มีก็ตามนี้เป็นความอุ่นใจข้อที่สอง

3. ถ้าหากว่าบาปที่คนทำไว้ ชื่อว่าเป็นอันทำ คือได้รับผลของบาป ก็เมื่อเราไม่ทำบาปแล้ว เราจะได้ รับผลของบาปที่ไหน นี้เป็นความอุ่นใจข้อที่สาม

4. ถ้าหากว่าบาปที่คนทำแล้วไม่ได้เป็นบาปอันใดเลยหรือไม่เป็นอันทำ ก็เมื่อเราไม่ได้ทำบาป เราก็ พิจารณาตนว่าบริสุทธิ์ทั้งสองส่วน คือ ส่วนที่เราไม่ได้ทำชั่ว และในส่วนที่เราทำดี เราก็มีความสุขในปัจจุบัน

อาหารของคนอินเดีย ส่วนใหญ่เราจะเจอแต่อาหารมังสวิรัติ ไม่ค่อยพบอาหารที่ทำจากเนื้อสัตว์
พระพุทธเจ้าทรงสอนชาวกาลามะว่า เพราะฉะนั้นคนที่ไม่ได้ทำชั่ว นรกสวรรค์จะมีหรือไม่มี บาปบุญจะมีหรือไม่มี เขาก็ได้ดีทั้งขึ้นทั้งล่อง แต่คนที่ทำชั่วนรกสวรรค์จะมีหรือไม่มี บาปบุญจะมีหรือไม่มี เขาก็เดือดร้อนทั้งขึ้นทั้งล่อง ถ้าหากว่าสวรรค์มีจริงเขาก็ไม่ได้ขึ้นสวรรค์ ถ้านรกมีจริงเขาก็ต้องลงนรก ถ้าหากว่าสิ่งเหล่านี้ไม่มีจริงเราก็ไม่ต้องเดือดร้อนเพราะเราไม่ได้ทำชั่วในปัจจุบัน  เราก็จะมีความสุขในปัจจุบันเพราะเราทำดี การให้พิจารณาอย่างนี้เป็นการพิจารณาที่สร้างเหตุสร้างผลขึ้น

การที่พระพุทธเจ้าไม่โจมตีศาสนาอื่นเลยแม้แต่สักคำเดียว พระองค์ทรงเตือนว่าอย่าเพิ่งเชื่อและให้พิจารณาด้วยตนเองก่อนเท่านั้น เมื่อได้พิจารณาด้วยตนเองแล้วเห็นว่าเป็นกุศลก็ให้ทำตาม แต่ถ้าเป็นอกุศลก็ให้ละเสีย  โดยให้ชาวกาลามะพิจารณาเห็นด้วยตนเอง จากการที่พระองค์ทรงตั้งคำถามให้ชาวกาลามะคิดพิจารณาเอาเองโดยไม่งมงาย  การพิจารณาอย่างนี้เป็นข้อความสำคัญในกาลามสูตรแท้ที่จริง ดังนั้นกาลามสูตรจึงเป็นพระสูตรที่ให้อิสระทางความคิด แต่ไม่ได้หมายความว่าให้เราไม่เชื่อ แต่ให้พิจารณาให้ดีเสียก่อนแล้วจึงค่อยเชื่อ ยังมีข้อความอื่นในพระสูตรนี้อีกที่ผู้สนใจควรไปศึกษาเพิ่มเติมให้เข้าใจถ่องแท้ก็จะได้ประโยชน์อีกมาก
 
ผลไม้ในอินเดีย รสชาติแตกต่างกับบ้านเรา มีทั้งที่ดีกว่าและไม่ได้ดีกว่าบ้านเรา
เมื่อไปถึงหมู่บ้านกาลามะ แหล่งกำเนิดแห่งพระสูตรที่สอนให้ใช้ปัญญา ได้รู้เรื่องราวความเป็นมาและรายละเอียดในภาษาที่แจ่มชัดและเข้าใจได้ง่าย จึงยิ่งรู้สึกภูมิใจที่เราได้นับถือพระพุทธศาสนา อันเป็นศาสนาที่สอนให้ใช้เหตุผล  ไม่เบียดเบียนตนและผู้อื่น แต่สอนให้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของตนเองและผู้อื่น และเป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์ในที่สุด แม้นว่าความทุกข์จะยังไม่หมดแต่ก็มีความสงบสุขในชีวิตเพิ่มขึ้นได้ เมื่อเราได้รู้และปฏิบัติได้ถูกต้องตามที่พระพุทธเจ้าสอน ก็นับว่าไม่เสียทีที่ได้เกิดมาในร่มเงาของพระพุทธศาสนา
อุดหนุนสินค้าชาวบ้าน ที่ทางเข้าเจดีย์หมู่บ้านกาลามะ
คณะของเราใช้เวลาอยู่ที่นี่ไม่นานก็ออกจากเจดีย์อนุสรณ์สถานของชาวหมู่บ้านกาลามะ ก่อนขึ้นรถก็แวะซื้อขนมและอาหารพื้นเมืองของชาวอินเดียที่ขายอยู่บริเวณก่อนถึงประตูทางเข้าไปสู่เจดีย์กาลามะเล็กน้อย กินรองท้องกันตามอัทธยาศัย มีทั้งแป้งทอด ถั่วคั่ว  ผลไม้ และชาสไตล์อินเดีย ช่วงบ่ายเราจะไปสักกาละสาลวโนทยานสถานที่ที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน พร้อมทั้งพาไปรู้จักต้นสาละจริงๆ ที่เกี่ยวข้องกับพุทธประวัติที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน ซึ่งเป็นคนละต้นกับ ต้นสาละ ที่คนไทยส่วนใหญ่เข้าใจ
อาหาวว่างตามอัทธยาศัย ก่อนขึ้นรถไป สาลวโนทยาน
ติดตามอ่านบทความทั้งหมดใน ประสบการณ์เดินทางไปแสวงบุญ 4 สังเวชนียสถาน 8 วัน ในประเทศอินเดียและเนปาล ได้ที่  www.rkatour.com

สนใจเดินทางไปทัวร์แสวงบุญ 4 สังเวชนียสถาน สักการะสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของพระพุทธศาสนา สถานที่ประสูติ ตรัสรู้ ปฐมเทศนา และปรินิพพาน รวมถึงสถานที่สำคัญอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งพุทธกาล สอบถามรายละเอียดการเดินทางได้ที่ โทร. 084-625-9929  

เขียนโดย ศักดิ์เพ็ชร  เรืองแพ
www.rkatour.com

ไม่มีความคิดเห็น: