|
วัดป่ามหาวัน เมืองไวสาลี รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย |
เช้าของวันที่ 4 ในการเดินทางไปในเส้นทางแห่งการแสวงบุญตามรอยพระพุทธเจ้าที่ประเทศอินเดีย เมื่อคณะของเราทั้ง 10 คนได้ออกมาจากปาวาลเจดีย์ สถานที่พระพุทธเจ้าได้ทรงปลงพระชนมายุสังขารกำหนดวันเสด็จสู่การดับขันธปรินิพพานในอีก 3 เดือนข้างหน้า ตามที่ได้เขียนเล่าไปในบทความที่แล้ว คณะของเราก็ได้นั่งรถเดินทางไปสู่วัดป่ามหาวัน ซึ่งใช้เวลาไม่นานเพราะวัดป่ามหาวันอยู่ไม่ไกลจากปาวาลเจดีย์มากนัก
|
นักเรียนในชนบทของอินเดีย กำลังนั่งเรียนหนังสือบนถนน |
เมื่อเดินทางไปถึงวัดป่ามหาวัน รถนำเที่ยวต้องจอดรออยู่ข้างนอกไม่อนุญาตให้นำรถเข้าไปได้ เราจึงต้องเดินผ่านหมู่บ้านชาวอินเดียระยะทางไม่ไกลมาก น่าจะประมาณไม่เกิน 300 เมตร ตลอดข้างทางก็มีร้านขายของที่ระลึกของชาวบ้าน ซึ่งมีทั้งขนมกินเล่นสินค้าพื้นเมืองและของที่ระลึกที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาเช่น ขันน้ำมนต์แบบทิเบต พระพุทธรูปแกะสลักที่ทำจากหินอ่อน เสาอโศกจำลอง เป็นต้น แต่ที่คณะของเราประทับใจมากที่สุดคือพบเด็กๆ กำลังนั่งเรียนหนังสืออยู่บนลานโล่งท่ามกลางแสงแดดอ่อนๆ เข้าใจว่าคงเป็นเพราะอากาศที่เย็นด้วย หรืออาจจะเป็นสภาพการเรียนที่เป็นอย่างนั้นจริงๆ เพราะมองและสังเกตโดยรอบแล้วก็ไม่พบเจออาคารที่พอจะดูได้ว่าจะใช้เป็นห้องเรียนได้เลย
|
นักเรียนกำลังนั่งเรียนหนังสืออยู่บนลานว่างข้างถนน |
เห็นนักเรียนและครูต่างก็ตั้งใจสอนและเรียนหนังสือแม้ว่าสถานที่จะไม่อำนวย คณะของเราเลยรู้สึกเมตตาและเอ็นดูเด็กๆ กับรู้สึกชื่นชมในความเสียสละของครูซึ่งดูจากการแต่งกายของครูและนักเรียนก็พอจะเข้าใจว่าคงเป็นชาวบ้านในละแวกนั้น จึงใช้ภาษาสากลขอทำกุศลด้วยการบริจาคเงินกันตามความประสงค์ของแต่ละท่านรวมเงินได้จำนวนหนึ่งจึงได้มอบเป็นทุนเพื่อใช้ในการศึกษาเล่าเรียนของนักเรียนเหล่านั้น แล้วก็ถือโอกาสขออนุญาตถ่ายภาพร่วมกับครูและเด็กนักเรียนทั้งหมดด้วย จากนั้นเราก็เดินเข้าไปในเขตของวัดป่ามหาวันซึ่งห่างจากชุมชนไปอีกนิดเดียวเท่านั้น
|
วัดป่ามหาวัน สถานที่กำเนิดภิกษุณีครั้งแรกของโลก |
วัดป่ามหาวัน อยู่ในเขตเมืองไพสาลีหรือไวสาลีในปัจจุบัน ในสมัยพุทธกาลพระพุทธเจ้าได้เสด็จมาที่เมืองไวสาลีหลายครั้ง แต่ละครั้งจะทรงประทับที่กูฏาคารศาลาวัดป่ามหาวันเป็นส่วนใหญ่ พระสูตรหลายพระสูตรเกิดขึ้นที่เมืองแห่งนี้ และที่กูฏาคารศาลาแห่งนี้เป็นที่ ๆ พระพุทธองค์ได้ทรงอนุญาตให้ พระนางมหาปชาบดีโคตมีพร้อมกับบริวารซึ่งหนึ่งในนั้นก็มีพระนางพิมพายโสธราด้วย สามารถอุปสมบทเป็นภิกษุณีได้เป็นครั้งแรกในโลก พระนางมหาปชาบดีคือพระน้าซึ่งเป็นผู้เลี้ยงสิทธัตถะกุมารตั้งแต่พระมารดาคือพระนางสิริมหามายาได้สิ้นพระชนม์หลังจากได้ให้ประสูติเจ้าชายได้ไม่กี่วัน
|
วัดป่ามหาวัน เมืองไวสาลี ประเทศอินเดีย |
พระนางมหาปชาบดี ผู้เป็นพระน้าของพระพุทธเจ้า จึงเป็นผู้หญิงที่บวชเป็นภิกษุณีสงฆ์องค์แรกในพระพุทธศาสนา โดยพระนางได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งที่พระองค์ทรงแสดงธรรมโปรดพระประยูรญาติที่โศกเศร้าหลังการถวายพระเพลิงพระบรมศพพระเจ้าสุทโธทนะ พระบิดาของพระพุทธองค์ พระนางมหาปชาบดีได้ทูลขอบวชจากพระพุทธเจ้าถึง 3 ครั้ง แต่พระพุทธองค์ได้ตรัสห้ามทั้ง 3 ครั้ง เมื่อพระอานนท์ได้ทูลขอให้พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้สตรีสามารถบวชในพระพุทธศาสนาได้อย่างบุรุษ ก็ได้ถูกพระพุทธองค์ทรงตรัสห้ามอีกถึง 3 ครั้งเช่นกัน
|
เสาอโศก วัดป่ามหาวัน ซึ่งเป็นต้นเดียวที่ยังคงเหลือสภาพสมบูรณ์ที่สุด |
จนเมื่อพระอานนท์ได้ทูลถามพระพุทธเจ้าว่า “หากสตรีออกบวชแล้วสามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้หรือไม่” พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า “สามารถบรรลุได้” พระอานนท์จึงทูลขอให้พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้สตรี โดยเฉพาะพระนางมหาปชาบดีได้ออกบวชในพระพุทธศาสนาได้อย่างบุรุษ พระพุทธองค์จึงทรงอนุญาต แต่ทรงมีเงื่อนไขว่าพระนางมหาปชาบดีจะต้องถือปฏิบัติ “ครุธรรม 8 ประการ” ตลอดพระชนม์ชีพ ซึ่งพระนางทรงเต็มพระทัยรับเงื่อนไขนั้น พระนางมหาปชาบดีจึงได้อุปสมบทเป็นภิกษุณีองค์แรกในพระพุทธศาสนา โดยได้ทำการอุปสมบทพร้อมกับบริวารผู้หญิงที่ขอติดตามพระนางมหาปชาบดีมาบวชด้วย
|
วัดป่ามหาวัน กับเสาอโศกของพระเจ้าอโศกมหาราช |
ครุธรรม 8 ประการ แปลว่า "ธรรมอันหนัก" หมายถึง เงื่อนไขเบื้องต้นอันเป็นข้อปฏิบัติสำหรับผู้หญิงที่จะขอบวชเป็นภิกษุณี หากทำได้พระพุทธเจ้าก็ทรงอนุญาตให้สตรีอุปสมบทได้ โดยต้องปฏิบัติด้วยความเคารพตลอดชีวิต มี 8 ประการดังนี้คือ
1 แม้บวชมานานนับร้อยปีก็ต้องกราบไหว้ภิกษุแม้ว่าจะบวชในวันนั้น
2 ต้องจำพรรษาอยู่ในวัดที่มีภิกษุ
3 ต้องไปถามวันอุโบสถและรับฟังโอวาทจากภิกษุทุกครึ่งเดือน
4 ต้องปวารณาในสงฆ์สองฝ่าย ทั้งฝ่ายภิกษุและภิกษุณี หลังจำพรรษาแล้ว
5 ต้องประพฤติมานัตในสงฆ์สองฝ่ายเมื่อต้องอาบัติหนัก
6 ต้องเป็นสิกขมานา 2 ปี ก่อนจึงขออุปสมบทในสงฆ์สองฝ่ายได้
7 ต้องไม่บริภาษด่าว่าภิกษุไม่ว่ากรณีใด ๆ
8 จะว่ากล่าวตักเตือนภิกษุไม่ได้ แต่ภิกษุว่ากล่าวตักเตือนได้
|
กูฏาคารศาลา ในป่ามหาวัน |
ภายในวัดป่ามหาวัน มีสิ่งที่น่าสนใจศึกษาเรียนรู้อย่างสำคัญ 2 เรื่อง คือ กูฏาคารศาลา และเสาหินของพระเจ้าอโศกมหาราช
กูฏาคารศาลา แปลว่า ศาลาเรือนยอด นับเป็นวัดแห่งแรกในเมืองไพศาลีซึ่งเป็นเมืองหลวงของแคว้นวัชชีในสมัยพุทธกาล เหตุที่พระพุทธเจ้าได้เสด็จมายังเมืองไพศาลีเพราะเกิดโรคห่าขึ้นในเมืองไพศาลี ทำให้มีคนตายจำนวนมากมีซากศพทับถมกันทั้งในเมืองนอกเมืองและในแม่น้ำลำคลองเป็นพันเป็นหมื่นศพ เจ้าลิจฉวีนามว่ามหาลิ ซึ่งเป็นพระสหายของพระเจ้าพิมพิสาร ได้ข่าวว่าพระโคตมพุทธเจ้าทรงมีฤทธิ์เหนือใคร จึงได้อาสาไปทูลขออาราธนาพระพุทธเจ้าจากพระเจ้าพิมพิสาร เมื่อพระสหายขอก็ไม่กล้าปฏิเสธ แต่เพราะพระองค์ทรงเป็นศิษย์จะรับฎีกาแทนพระพุทธองค์ผู้เป็นพระอาจารย์ก็ไม่บังควร พระเจ้าพิมพิสารจึงขอให้เจ้าลิจฉวีไปทูลอาราธนาเชิญพระบรมศาสดาเอง พระพุทธเจ้าเมื่อทรงรับอาราธนาแล้วก็เสด็จเดินทางไปทางเรือพร้อมด้วยพระอานนท์ เมื่อเสด็จไปถึงหน้าประตูเมืองไพศาลีก็เกิดปาฏิหาริย์ฝนตกลงมาห่าใหญ่พัดพาเอาซากศพและสิ่งปฏิกูลทั้งปวงไหลลงแม่น้ำคงคาไปสิ้น จากนั้นพระพุทธองค์ทรงรับสั่งให้พระอานนท์ทำน้ำพระพุทธมนต์ด้วยบทว่า "ยังกิญจิ วิตตัง อิธะ วา หุรัง วา ฯลฯ" พระพุทธองค์ทรงนั่งบริกรรมอยู่ที่หน้าเมืองอยู่จนสว่าง ส่วนพระอานนท์ก็ประพรมน้ำพระพุทธมนต์อยู่จนรุ่งสางเช่นกัน ในวันรุ่งขึ้นเมืองไพศาลีก็ได้กลับเข้าสู่สภาพเดิมประชาชนกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปรกติสุขอีกครั้ง
|
คณะฟังเรื่องเล่าเกี่ยวกับป่ามหาวัน ในสมัยพุทธกาล |
เมื่อเหตุการของเมืองไพศาลีพ้นจากโรคห่าระบาดกลับสู่ภาวะปกติ รัฐสภาของแคว้นวัชชีจึงมีมติ ถวาย "กูฏาคารศาลา" ในป่ามหาวัน อันเป็นที่ประพาสของเจ้าลิจฉวีทั้งหลายให้เป็นวัดในพระพุทธศาสนา และนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาเมื่อพระโคตมพุทธเจ้าเสด็จไปเมืองไพศาลีครั้งใด ก็จะเสด็จไปประทับในกูฏาคารศาลาแห่งนี้เสมอ
|
สถูปใน กูฎาคารศาลาที่สร้างโดยพระเจ้าอโศกมหราช |
หลังจากพระพุทธเจ้าได้เสด็จปรินิพพานแล้วล่วงมาถึงสมัยพระเจ้าอโศก ใน พ.ศ.300 ได้มีการจัดสร้างพระสถูปขึ้นในบริเวณกูฏาคารศาลา พร้อมทั้งตั้งเสาอโศกไว้เป็นที่หมายสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา ปัจจุบันเสาอโศกในบริเวณกูฏาคารศาลา วัดป่ามหาวันเป็นเสาอโศกเพียงต้นเดียวที่อยู่รอดปลอดภัยทั้งจากภัยธรรมชาติและการถูกทำลายของศัตรูต่างศาสนา เสาอโศกต้นนี้ได้รับการยอมรับว่า เป็นเสาอโศกต้นที่สวยและยังคงสมบูรณ์ที่สุดในบรรดาเสาอโศกทั้งหมดที่ได้สร้างขึ้นมาในสมัยของพระเจ้าอโศกมหาราช
|
เสาอโศก วัดป่ามหาวัน เมืองไวสาลี ประเทศอินเดีย |
ประวัติความเป็นมาของเสาอโศก เสาอโศกในปัจจุบันพบยังคงเหลืออยู่ 20 เสา มีจารึกของพระเจ้าอโศกมหาราช แห่งราชวงศ์เมารยะ เรียกเสานี้ว่า
ธมฺมถมฺภา มาจากศัพท์ ธรรมสตมภ์ แปลว่า เสาแห่งธรรม สร้างเพื่อเป็นอนุสรณ์สำคัญของสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าและทางพระพุทธศาสนา บางเสาพบว่ามีจารึกพระบรมราชโองการอยู่ด้วย ในปัจจุบันพบหัวเสาในสภาพสมบูรณ์เพียงเจ็ดชิ้น เท่านั้น มีเสาอโศกจำนวนสองเสาที่ถูกขนย้ายภายใต้พระราชดำริของตุฆลักฟีรูซ ชาห์ไปไว้ที่ราชธานีของรัฐสุลต่านเดลี และอีกหลายเสาที่ถูกขนย้ายโดยจักรพรรดิของจักรวรรดิโมกุล และมีการรื้อถอนหัวเสาที่เป็นรูปสัตว์ออก ในบรรดาเสาที่ค้นพบนั้น ค่าเฉลี่ยของความสูงอยู่ที่ 12 ถึง 15 เมตร และแต่ละเสาอาจมีน้ำหนักมากถึง 50 ตัน บางเสาปรากฏร่องรอยว่าถูกลากมาระยะทางหลายไมล์มายังจุดที่ตั้งเสาในปัจจุบัน
|
เสาอโศก สัญลักษณ์แสดงความสำคัญของสถานที่ทางพระพุทธศาสนา |
เสาอโศกเป็นหนึ่งในบรรดาประติมากรรมเก่าแก่ที่สุดของอินเดียที่หลงเหลือมาจนปัจจุบัน ประเทศอินเดียให้ความสำคัญกับเสาอโศกมากโดยใช้ภาพส่วนหัวของเสาอโศกรูปสิงห์เป็นตราแผ่นดินของอินเดียนับตั้งแต่ปี 1950 จนถึงปัจจุบัน และปรากฏในภาพของธนบัตรอินเดียด้วย
ประเทศอินเดียแม้นว่าจะมีศาสนาฮินดูเป็นศาสนาประจำชาติ แต่ก็ให้ความสำคัญกับพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก โดยใช้ตราธรรมจักร กงล้อแห่งธรรมสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนาวางปรากฏในกลางธงชาติของอินเดีย และยังพบภาพเสาหินอโศกซึ่งพระเจ้าอโศกมหาราชได้ทรงสร้างขึ้นเพื่อประกาศสถานที่เป็นเขตพื้นที่สำคัญทางพระพุทธศาสนาก็มีปรากฏในธนบัตรของอินเดียด้วย
|
เสาอโศก |
เสาอโศกทั้งหมดพบว่าสร้างขึ้นเฉพาะในวัดของพุทธศาสนา หรือในสถานที่สำคัญในพระประวัติของพระโคตมพุทธเจ้าเท่านั้น บางจารึกบนเสาระบุว่าเสานั้นส่งมอบให้กับสงฆ์หรือชี บางเสาสร้างขึ้นเพื่อระลึกการเสด็จพระราชดำเนินของจักรพรรดิอโศก เสาส่วนใหญ่ที่พบอยู่ในพื้นที่ของรัฐพิหาร, รัฐอุตตรประเทศ, รัฐมัธยประเทศ และบางส่วนของรัฐหรยาณา
|
แวะซื้อของกินเล่น จากร้านชาวบ้านระหว่างเดินกลับไปที่รถ |
ครั้นได้เวลาอันสมควร เราก็ออกจากวัดป่ามหาวัน เดินทางกลับไปที่รถระหว่างทางเจอคณะพระสงฆ์ไทยจำนวนมากเดินสวนกันมาเพื่อจะเข้าไปที่วัดป่ามหาวัน ผ่านร้านค้าชาวบ้านก็เลยแวะอุดหนุนสินค้าชาวอินเดียกันพอหอมปากหอมคอ คงเป็นเพราะชาวอินเดียชอบกินถั่วจึงลองซื้อถั่วเหลืองคั่วบรรจุซองซึ่งมีวางขายอยู่ทั่วไปตลอดเส้นทางที่ผ่านจุดท่องเที่ยวต่างๆ ในอินเดีย เม็ดถั่วเหลืองคั่วบรรจุซองราคาไม่แพงรสชาติมันและเค็มนิดหน่อยกินเล่นเพลินดี ซื้อเป็นเงิน 100 บาทไทยได้มาเป็นพวงยาวเหยียดเลย
|
ระหว่างเดินกลับไปที่รถ พบคณะสงห์ไทยจำนวนมากมาที่วัดป่ามหาวัน |
ออกจากวัดป่ามหาวัน สถานที่ต่อไปที่เราจะแวะชมคือหมู่บ้านกาลามะต้นเหตุแห่งกาลามะสูตร กับไปสักการะสาลวโนทยาน สถานที่ที่พระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน ติดตามกันต่อในตอนหน้านะครับ
ติดตามอ่านบทความทั้งหมดใน ประสบการณ์เดินทางไปแสวงบุญ 4 สังเวชนียสถาน 8 วัน ในประเทศอินเดียและเนปาล ได้ที่ www.rkatour.com
สนใจเดินทางไปทัวร์แสวงบุญ 4 สังเวชนียสถาน สักการะสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของพระพุทธศาสนา สถานที่ประสูติ ตรัสรู้ ปฐมเทศนา และปรินิพพาน รวมถึงสถานที่สำคัญอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับพระพุทธเจ้าเมื่อครั้งพุทธกาล สอบถามรายละเอียดการเดินทางได้ที่ โทร. 084-625-9929
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น