วันอังคารที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2556

เที่ยวงานลอยแพสะเดาะเคราะห์ อำเภอท่าชนะ

จังหวัดสุราษฎร์ธานีมีการจัดประเพณีลอยแพของชาวเรือ บริเวณหาดสำเร็จ หมู่ที่ 5 ต.ท่าชนะ  อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งประเพณีนี้จัดติดต่อกันมานานร่วม 40-50 ปีแล้ว จัดทุกปีไม่เคยขาด งานลอยแพสะเดาะเคราะห์ที่อำเภอท่าชนะนี้ ชื่อเต็มๆ ว่า งานทำบุญประเพณีลอยแพสะเดาะเคราะห์ จะจัดตรงกับวันแรม 12 ค่ำเดือน 9 ของทุกๆ ปี บริเวณหาดสำเร็จ

ในงานจะมีการทำบุญเลี้ยงพระเพื่อความเป็นศิริมงคลแล้วยังมีการร่วมทำพิธีลอยแพ ซึ่งเป็นหัวใจของงานนี้เลยก็ว่าได้ แต่เดิมเป็นงานที่ชาวบ้านในพื้นที่ซึ่งส่วนใหญ่ทำการประมงริเริ่มจัดทำกันมากันเองเพื่อเป็นการลอยเคราะห์ลอยโศกให้หมดไปและเป็นการทำบุญไปในตัว


ปัจจุบันทางผู้นำท้องถิ่นร่วมกับชุมชนในพื้นที่เริ่มให้ความสำคัญกับงานนี้และมีแนวโน้มว่าจะพัฒนาการจัดงานลอยแพนี้ให้ดียิ่งขึ้นในโอกาสต่อๆ ไป จากประวัติความเป็นมาของพิธีนี้ คุณอมเรศเล่าว่า เมื่อประมาณ 40-50 ปีที่แล้ว  เดือน9 (เดือนไทย)  เป็นฤดูมรสุม ทะเลจะมีคลื่นลมแรง ชาวบ้านที่ทำอาชีพประมง ก็ไม่สามารถออกเรือไปจับสัตว์ทะเลได้  ทำให้ความเป็นอยู่ค่อนข้างเดือดร้อน




คุณอมเรศ ทองแสน
ในสมัยนั้น นายเต็ก เทพสุวรรณ ซึ่งเป็นบิดาของพลตำรวจตรีชลอ เทพสุวรรณ เจ้าของบ่อหยีรีสอร์ทคนปัจจุบัน ได้ชักชวนเพื่อนบ้านละแวกใกล้เคียงร่วมทำบุญเลี้ยงพระและทำพิธีลอยแพเพื่อสะเดาะเคราะห์ บริเวณหน้าหาดสำเร็จ ซึ่งเป็นสถานที่ ที่ใช้จัดงานลอยแพสเดาะห์เคราะห์มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ก็นับว่าเป็นเรื่องที่น่ามหัศจรรย์ที่พอทำพิธีดังกล่าวไปแล้ว ทะเลที่มีคลื่นลมแรงจนออกเรือไปหาปลาก็ไม่ได้ ก็กลับมาสงบให้ชาวบ้านได้ออกทะเลไปทำมาหากินกันได้เป็นปกติ จึงได้มีการจัดทำพิธีดังกล่าวต่อเนื่องกันมาทุกๆ ปี ไม่เคยขาดเลย และก็น่าแปลกที่ไม่ว่าจะเกิดมรสุมหรือพายุหนักขนาดไหน พื้นที่บริเวณหาดบ่อหยีก็จะรอดพ้นภัยเสมอ

ชาวบ้านร่วมกันทำบุญก่อนพิธีลอยแพ
ความเชื่อและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แม้ว่าจะเป็นสิ่งที่มองไม่เห็นจับต้องไม่ได้ แต่เราก็สามารถรับรู้และสัมผัสได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม ขอแต่ให้เรามีใจที่บริสุทธิ์และสงบมากพอ ผมเป็นคนหนึ่งที่เคารพและศรัทธาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ดังนั้นถ้าเราไม่งมงายเกินไป ทำการต่างๆ ให้ถูกให้ควร ปฏิบัติตัวให้ดี ผมเชื่อว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็จะช่วยและปกป้องเราตามวาระและโอกาสที่เหมาะที่ควร

 ดังนั้นประเพณีใดๆ ก็ตามที่สืบทอดกันมานาน จากรุ่นต่อรุ่น ก็ต้องมีประวัติความเป็นมา มีที่มาที่ไป อย่างน้อยก็มีปริศนาอะไรหลายๆ อย่างที่แฝงสอนตัวเราอยู่ให้ได้รู้ เช่นการแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ การสืบต่อพุทธศาสนา การเสียสละ ความสามัคคีของคนในครอบครัวและชุมชน เป็นต้น เราเป็นคนรุ่นใหม่ก็จริง จึงไม่ควรละเลยต่อวิถีทางวัฒนธรรมของคนรุ่นเดิม น่าจะช่วยกันส่งเสริมและรักษาไว้ ยิ่งเราศึกษาถึงแก่นแท้ของพิธีกรรมนั้นๆ เราก็จะเข้าใจว่าสิ่งเหล่านั้น ไม่ใช่เรื่องงมงายเลย
 ข้อมูลโดย
ก้าวหน้าดอทคอม

ไม่มีความคิดเห็น: