วันพุธที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

พาไปเที่ยวตลาดเก่า เจ็ดเสมียน

ตลาดเก่า เจ็ดเสมียน
 ตลาดเจ็ดเสมียน หรือ ตลาดเก่า 119 ปี เจ็ดเสมียน อยู่ในตำบลเจ็ดเสมียนตำบลเล็กๆของจังหวัดราชบุรี ยังคงรักษาถึงความเป็นอัตลักษณ์ที่เรียบง่าย น่ารักๆ ของวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ ที่สวยงามได้อย่างน่าชื่นชม ชาวบ้านมีวิถีและความเป็นอยู่อย่างเรียบง่าย สบายๆ ไม่ต้องแย่งแข่งขันกันวุ่นวายเหมือนในสังคมเมืองที่อ้างว่าพัฒนาและเจริญแล้ว แต่กลับมีความเป็นอยู่และจิตใจของผู้คนล้าหลังลงเรื่อยๆ
ตลาดเก่า 119 ปี เจ็ดเสมียน อยู่ห่างจากกรุงเทพประมาณ 100 กิโลเมตรเท่านั้น ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงในการเดินทางไปถึง แต่เป็น 2 ชั่วโมงที่หลังจากนั้นเราจะเห็นหรือมีมุมมองในอีกลักษณะหนึ่ง ที่ย้อนอดีตพาเรากลับไปสู่ความทรงจำเมื่อ 100 ปีที่แล้ว ไปดูร้านค้าตลาดห้องแถวบ้านไม้ 2 ชั้น อายุกว่า 100 ปี ตลาดติดกับแม่น้ำแม่กลอง จุดเด่นของที่ตำบลเจ็ดเสมียนคือ ไม่ว่าจะเป็นอะไรก็จะตั้งชื่อ เจ็ดเสมียนทั้งนั้น โดยมีตลาดเจ็ดเสมียนเป็นศูนย์กลางค้าขายของคนในท้องถิ่น   โดยทุกวัน ศุกร์ เสาร์และอาทิตย์ จะมีตลาดนัดที่จัดขึ้นเป็นประจำ จะมีทั้งของกิน ของใช้ และเสื้อผ้าให้เลือกซื้อมากมาย

เที่ยว ตลาดเจ็ดเสมียน
โดยเฉพาะวันตลาดช่วงสิ้นเดือนจะคึกคักมากเป็นพิเศษ มีงาน All  about Arts    สืบสานงานศิลป์ภูมิปัญญาของแผ่นดิน ที่เทศบาลตำบลเจ็ดเสมียนจัดร่วมกันกับสวนศิลป์ บ้านดิน ร่วมกันเป็นเจ้าภาพ งานเริ่มตั้งแต่ 16.00-20.00 น. ภายในงานจัดคล้ายงานวัด นอกจากมีของกิน ของใช้ ขายแล้ว ยังมีสินค้าขึ้นชื่อของจัวหวัดราชบุรีประเภทงานหัตถกรรมด้วย มีการแสดงแบบพื้นบ้านของชาวบ้านซึ่งหาดูได้ยาก แล้วยังมีการแสดงจากภัทราวดีเธียเตอร์ และศิลปินอื่นๆสลับกันไป ซึ่งทุกคนรู้กันว่าหัวเรือหลักของงานนี้คือ ครูนาย ครูของคุณภัทราวดี มีชูธน ซึ่งได้มาสร้างสวนศิลป์ บ้านดิน ขึ้นเพื่อนำความรู้มาพัฒนาและสร้างพื้นที่ทางศิลปะให้กับทางชุมชน

มาเที่ยวตลาดเก่า 119 ปี เจ็ดเสมียน ต้องไม่พลาดอาหารอร่อยของที่นี่คือ ไชโป๊ว ซึ่งเป็นอาหารขึ้นชื่อของเจ็ดสเมียนและเป็นหนึ่งในของดีของจังหวัดราชบุรี  มีเค้กมะพร้าวอ่อนน้องทราย ที่อร่อยเป็นที่ถูกใจ และมีผ้าขาวม้าทอที่ให้เลือกซื้อเป็นของฝาก และหากมีโอกาสได้มาเที่ยวตลาดเจ็ดเสมียนช่วงวันเสาร์แรกหลังเทศกาลสงกรานต์ก็จะได้ดู งานประเพณี แห่ดอกไม้ท้ายสงกรานต์  ซึ่งเป็นงานบุญประเพณีที่น่าสนใจของชาวเจ็ดเสมียนและราชบุรีทีเดียว

เล่ากันมาว่า หลังจากกรุงศรีอยุธยาแตกในครั้งที่ 2 กองทัพของพม่าได้ทำลายทรัพย์สิน สิ่งของ และกวาดต้อนเชลยกลับไปกรุงอังวะเป็นจำนวนมาก พระเจ้าตากสิน เมื่อครั้งยังเป็นพระยาวชิรปราการ ได้ตีฝ่าวงล้อมของพม่ามาทางเมืองราชบุรี ได้มาตั้งค่ายที่นี่และประกาศรับสมัครทหารที่จะเข้าร่วมต่อสู้กับพม่า ซึ่งก็มีชาวบ้านมาสมัครเป็นจำนวนมาก จนเสมียนที่มีอยู่ไม่พอที่จะจดชื่อผู้ที่มาสมัครให้แล้วเสร็จในวันนั้นได้ พระเจ้าตากจึงได้ประกาศรับสมัครเสมียนเพิ่มเติม ก็มีคนมาสมัครเพื่อเป็นเสมียนเพิ่มเติม 7 คน ทำให้การจดชื่อสมัครรับทหารที่จะไปร่วมสู้กับพม่าแล้วเสร็จก่อนมืดวันนั้น พระองค์จึงตั้งชื่อหมู่บ้านว่า หมู่บ้านเจ็ดเสมียน นี่จึงเป็นที่มาของคำว่า เจ็ดเสมียน ตั้งแต่นั้นมา
ข้อมูลโดย
ก้าวหน้าดอทคอม

ไม่มีความคิดเห็น: